ปลัด มท.เปิดอาคารแปรรูปและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกาะยอ

ศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ วัดโคกเปี้ยว ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลาจังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดป้ายอาคารแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเยี่ยมชมโรงทอผ้า อาคารศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนภูมิปัญญาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีความร่วมสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด พัฒนารูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ องค์ความรู้ให้กับองค์กร กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชนภูมิปัญญา จัดเก็บและบันทึกถ่ายทอดองค์ความรู้สู่รุ่นใหม่ 3 วัย ได้แก่ รุ่นปู่ย่า ตายายถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ดำเนินการที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ วัดโคกเปี้ยว หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ต่อมาขยายผลเป็น “ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ” ต่อยอดการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าทอเกาะยอ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย อาทิ ท่านพระครูโกศลอรรถกิจ ดร. เจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลา เจ้าอาวาสวัดโคกเปี้ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ ผู้นำชุมชน และเครือข่าย OTOP จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีเกาะยอ และต่อยอดเป็นสถานที่ฝึกอาชีพการแปรรูป โดยอาคารแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากพระครูโกศลอรรถกิจ ดร. เจ้าคณะอำเภอเมืองสงขลา เจ้าอาวาสวัดโคกเปี้ยว ดำเนินการปรับปรุงอาคารของวัดเป็นอาคารแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้แก่เด็ก เยาวชน กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ภายใต้การนำของ ดร. สินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ที่ได้ขับเคลื่อนการทำงานในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับพี่น้องประชาชนอย่างมีส่วนร่วมกระทั่งได้รับรางวัลเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยส่วนตัวเคยเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนที่ 13 ทำให้ได้ทราบว่า เป็นพื้นที่ที่ได้น้อมนำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มาทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์จนเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่ช่วยเสริมสร้างความรัก ความใส่ใจในเรื่องต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมของพี่น้องประชาชน เด็ก เยาวชน ในชุมชน และบุคคลทั่วไป เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่รวมพรรณไม้นานาชนิดอันเป็นตัวอย่างให้กับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ขยายผลในพื้นที่ได้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามที่เป็นที่ประจักษ์อีกประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการขยะโดยชุมชน ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำหนดให้การจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการ และที่สำคัญ คือ เป็นความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) คือการพัฒนาให้ทรัพยากรมนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลให้ตำบลท่าข้ามซี่งมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยการรณรงค์ให้คนในชุมชนได้ช่วยกันใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ 3ช (3Rs) ได้แก่ 1) ลด ละ เลิกการใช้ชีวิตแล้วทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเป็นภัย หรือ “ใช้น้อย (Reduce)” เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกลงและจะหมดไปในที่สุด 2) การนำเอาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น นำถุงพลาสติกที่ลงน้อยลงอยู่แล้วกลับมาใช้ซ้ำ และ 3) ช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาปรับใช้ใหม่(Recycle) ซึ่งเห็นได้จากการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ กระทั่งทำให้เกิดร้านธงฟ้ารักสิ่งแวดล้อม โดยบริการสินค้าจากการนำเอาขยะรีไซเคิลมาแลกเครื่องอุปโภคบริโภค
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราคนไทยทุกคนโชคดีที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตของพวกเราทุกคน ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนพสกนิกรและทรงพยายามส่งเสริมการประกอบอาชีพและการใช้ผ้าไทย อันประกอบด้วย ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ ผ้ามัดหมี่ ผ้ายกดอก ผ้าแพรวา ผ้าปัก และผ้าอื่น ๆที่ทำโดยฝีมือของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีรายได้กระตุ้นส่งเสริมให้ทอให้ทำ และได้รับการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้คนทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการต่อยอดลวดลายใหม่ ๆ โดยยังคงอนุรักษ์ซึ่งลวดลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษ จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสงขลา และทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมกันสืบสานพระราชดำริด้วยการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน
