AROUND THAILAND

สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์

ประชาชนลุ่มน้ำบางปะกงในนาม “สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน” และทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เข้าฟังคำพิพากษาศาลปกครองระยอง ในคดีที่ สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและชาวบ้านโพธิ์รวม 9 คน ยื่นฟ้องกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ และอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2560

ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายไม่ควบคุมกำกับดูแลกิจการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ริมแม่น้ำบางปะกง ปล่อยให้บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ดำเนินการก่อสร้างและใช้เขื่อนป้องกันตลิ่งเป็นท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าเกินกว่า 100 เมตร ประกอบกิจการขนถ่ายสินค้า โดยไม่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่ได้รับใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยถูกต้องตามกฎหมายก่อน และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดังให้แก่บริษัทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อผังเมืองรวมและกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งโครงการติดกับริมแม่น้ำบางปะกง

ศาลปกครองระยองมี คำพิพากษายกฟ้องในทุกประเด็น ด้วยเหตุผลโดยสรุปว่า กรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแลการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และการจัดทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือประกอบการขออนุญาต เนื่องจากตามข้อเท็จจริงเห็นว่าบริษัทประสงค์ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันตลิ่งในแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนไม่ให้พังทลายจริง โดยมิได้มีส่วนใดล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำบางปะกง การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวจึงมิได้เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2546 และตามรูปแบบการก่อสร้างส่วนกำแพงกันดินที่ใช้เป็นสันเขื่อนป้องกันตลิ่งมีความกว้างเพียง 1.45 เมตรเท่านั้น

ส่วนถัดจากกำแพงกันดินที่กว้าง 19.55 เมตร มีลักษณะเป็นพื้นคอนกรีตเพื่อใช้ประโยชน์ทั่วไป เขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวจึงไม่ใช่ท่าเทียบเรือหรือส่วนหนึ่งของท่าเทียบเรือ แม้บริษัทจะมีการขออนุญาตขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือริมแม่น้ำบางปะกง และผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำได้ออกหนังสือรับรองการตรวจสภาพท่าเทียบเรือ ระบุว่าเป็นการตรวจสอบเขื่อนป้องกันตลิ่งซึ่งมีความประสงค์ขอใช้เทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ก็ไม่มีผลทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวกลายเป็นท่าเทียบเรือไปได้ บริษัทจึงไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ออกใบอนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากเป็นการขออนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ และเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวไม่ใช่ท่าเทียบเรือ จึงไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ก่อนออกใบอนุญาต

อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดังให้แก่บริษัทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้พื้นที่ตั้งโรงงานจะขัดต่อข้อกำหนดตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.2558 ที่ห้ามประกอบกิจการโรงงานประเภทดังกล่าวในระยะ 500 เมตรจากริมแม่น้ำบางปะกง

แต่เนื่องจากบริษัทมีการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนการใช้บังคับผังเมืองรวม กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับตามข้อกำหนดของผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 มาตรา 27 วรรคสอง และโรงงานตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว และมีพื้นที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคล จึงไม่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535

คดีนี้ มีความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่องค์คณะเจ้าของสำนวน ว่า แม้เขื่อนป้องกันตลิ่งจะก่อสร้างในแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัท แต่เมื่อบริษัทได้ทำการขุดลอกที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงออกและขุดถอยร่นเข้าไปในแนวเขตกรรมสิทธิ์ด้วยความประสงค์ของบริษัทเองเพื่อใช้เป็นท่าเทียบเรือ โดยมิได้เกิดจากการกัดเซาะตามธรรมชาติ ทำให้บริเวณที่ขุดลอกมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง และสันเขื่อนด้านนอกสุดอยู่ติดและล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำบางปะกง จึงถือเป็นสิ่งล่วงลำน้ำที่ต้องขออนุญาตก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456

และตามพฤติการณ์ของบริษัทที่มีการยื่นขออนุญาตขุดลอกหน้าท่าเทียบเรือและขอใช้เขื่อนป้องกันตลิ่งเป็นท่าเทียบเรือ เชื่อได้ว่าบริษัทประสงค์จะใช้เขื่อนป้องกันตลิ่งเป็นท่าเทียบเรือมาตั้งแต่แรกและต้องพิจารณาภาพรวมทั้งโครงการ เมื่อเขื่อนป้องกันตลิ่งมีความยาวรวมมากกว่า 100 เมตร และมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมมากกว่า 1,000 ตารางเมตร จึงต้องมีการจัดทำรายงาน EIA ประกอบการขอรับใบอนุญาตด้วย เมื่อหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย

หลังรับทราบผลคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีมีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยและวางบรรทัดฐานไม่ให้มีการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายมาดำเนินโครงการท่าเทียบเรือที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยต้องไม่จัดทำรายงาน EIA และไม่ถูกควบคุมตรวจสอบตามกฎหมาย และเพื่อยืนยันสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ

Related Posts

Send this to a friend