AROUND THAILAND

ชป.เดินหน้าเพิ่มความจุ 11 อ่างฯ ลุ่มน้ำป่าสัก สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับชาวเพชรบูรณ์

กรมชลประทาน เตรียมเพิ่มศักยภาพความจุอ่างเก็บน้ำ 11 แห่ง ในลุ่มน้ำป่าสัก เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพี่น้องชาวเพชรบูรณ์ ขยายพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 50,000 ไร่ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน มีแผนที่จะดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักในเขต จ.เพชรบูรณ์ โดยในปี 2567 จะเริ่มที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น อ.หล่มสัก ด้วยการติดตั้งฝายพับได้ ความสูง 1.5 เมตร ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 33 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น 39 ล้าน ลบ.ม. สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองหล่มสักและพื้นที่ใกล้เคียง

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่เหลืออีก 10 แห่ง ประกอบด้วย อ่างฯห้วยน้ำก้อ อ่างฯห้วยน้ำชุนใหญ่ อ่างฯท่าพล อ่างฯห้วยป่าเลา อ่างฯห้วยป่าแดง อ่างฯห้วยใหญ่ อ่างฯคลองเฉลียงลับ อ่างฯคลองลำกง อ่างฯห้วยเล็ง และ อ่างฯ ห้วยนา จะเริ่มดำเนินการในปีถัดไป หากแล้วเสร็จสิ้นทั้ง 11 แห่ง จะกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นถึง 50 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 50,000 ไร่ 

“นอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานได้ตลอดทั้งปี ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณน้ำไหลหลากตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย” นายประพิศฯ กล่าว 

ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ จะอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก มีลักษณะภูมิประเทศที่ด้านบนสูงชัน ด้านล่างเป็นแอ่งกระทะ และมีห้วย คลอง บึง กระจัดกระจายทั่วไป หากฝนตกหนักน้ำจะไหลหลากลงแม่น้ำป่าสักและลำน้ำสาขาทันที ทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ ภาวะน้ำท่วมดังกล่าวจะสังเกตได้จากค่าเฉลี่ยน้ำท่าของแต่ละปี ที่มีปริมาณสูงถึง 2,250 ล้าน ลบ.ม. โดยที่แหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่สามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันเพียง 200 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น 

ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำทั้งจังหวัดมีประมาณ 800 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำท่าอย่างมาก ประกอบกับนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา แนวโน้มความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร และด้านการท่องเที่ยว

กรมชลประทาน จึงต้องเร่งเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่และพัฒนาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งช่วยตัดยอดน้ำบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากอีกด้วย ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Related Posts

Send this to a friend