AROUND THAILAND

พบซากเสือโคร่งวิจิตร ในพื้นที่ อช.แม่วงก์ คาด บาดเจ็บหนักจากการต่อสู้แย่งอาณาเขต

วันนี้ (14 ม.ค. 66) กรมอุทยานแห่งชาติสัวต์ป่าและพันธุ์พืช แจ้งข่าวการตายของเสือโคร่ง “เสือวิจิตร” ที่เคยหลงเข้ามาในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ช่วงปลายปี 2564 โดยเข้ามาในพื้นที่พักอาศัยของชาวบ้าน จนหน้าที่ต้องเร่งออกตามหาตัว พร้อมผลักดันให้กลับเข้าป่าลึก

นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า พบเสือโคร่งตายภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร ว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 ได้รับรายงานจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มว.6 (ซับตามิ่ง) แจ้งทางวิทยุสื่อสาร ว่า พบเสือโคร่งเพศผู้ขนาดโตเต็มวัยนอนนิ่งอยู่บริเวณริมลำห้วย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เมื่อเข้าตรวจสอบ พบว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวได้ตายลงแล้ว

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า บริเวณลำตัวและคอ มีบาดแผลคล้ายถูกฟันเขี้ยวของสัตว์ป่ากัด มีร่องรอยเล็บของสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่ทั่วลำตัว บริเวณข้อเท้าหน้าหัก มีแผลเน่าหลายจุด ตรวจสอบบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ ไม่พบสิ่งผิดปกติและบุคคลอื่นแต่อย่างใด จึงประสานสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เข้าตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตาย

จากการผ่าพิสูจน์ซาก คาดว่าตายมาประมาณ 3 วัน สันนิษฐานสาเหตุการตายว่า เกิดการติดเชื้อจากบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือด (septicemia) ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นการตายตามธรรมชาติในระบบนิเวศ พิจารณาแล้วเห็นว่า ซากเสือโคร่งที่ไม่เน่าเสีย ได้แก่ กระดูก ซึ่งมีคุณค่าสมควรแก่การเก็บรักษาไว้เพราะเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในทางราชการและการศึกษาวิจัย จึงให้เก็บรักษาซากสัตว์ป่าไว้มิให้ทำลาย โดยวิธีการต่อกระดูกสัตว์

ในส่วนของซากอื่น ๆ ได้แก่ หนัง และเนื้อ เห็นควรทำลายซากโดยวิธีการเผา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ จากการพิสูจน์เปรียบเทียบลวดลายบนตัวเสือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จำแนกระบุยืนยันตัวเสือโคร่ง พบว่าเสือโคร่งมีรหัสข้อมูลตามโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF หรือชื่อ “เสือวิจิตร” ที่ข้อมูลสถานีวิจัยเขานางรำบันทึกไว้ ขณะที่บริเวณใกล้เคียง มีเสือโคร่งตัวผู้ประจำถิ่นครองอาณาเขตอยู่ด้วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่า จะมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งการครอบครองอาณาเขต อันอาจเป็นสาเหตุของการตายของเสือวิจิตรในครั้งนี้

Related Posts

Send this to a friend