AROUND THAILAND

ชาวบ้านเฮ ศาลระยอง ชี้ บ.เอกชนเป็นผู้ครอบครองวัตถุอันตราย ต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (13 ธ.ค. 65) ศาลจังหวัดระยอง อ่านคำพิพากษาให้คดีแพ่งด้านสิ่งแวดล้อม ในคดีหมายเลขดำที่ สวพ 1/2564 โดยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจำนวน 15 คน ยื่นฟ้อง บริษัท วินโพรเสส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววิชชุดา ไกรพงษ์ กรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 2 และนายโอภาส บุญจันทร์ อดีตกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 3 ฐานก่อมลพิษ เรียกร้องค่าเสียหาย 47 ล้านบาท และขอให้ศาลสั่งให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีดังเดิม

นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความฝ่ายชาวบ้าน เปิดเผยว่า ศาลได้พิจารณาว่า จำเลยทั้ง 3 เป็นเจ้าของผู้ครองครองวัตถุอันตรายมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคำฟ้องโจทก์

โดยศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้ โจทก์ที่ 1 – 15 รวม 20,823,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้ง 3 จะได้ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าเสร็จสิ้น และพิพากษาให้ จำเลยทั้ง 3 ควบคุมมิให้เกิดการั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของโจทก์ทั้ง 15 และหนองพะวา แหล่งน้ำสาธารณะ ให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่ได้รับยกเว้นต่อศาล กำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 20,000 บาท

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อปี 2554 ชาวบ้านหนองพะวาคัดค้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แก่ บริษัทวิน โพรเสส จำกัด แต่ปี 2556 ชาวบ้านพบหลักฐานว่า บริษัทฯ ได้ลักลอบฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมในที่ดินของตน และยังลักลอบกระทำกิจการในพื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต

ปี 2560 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 ใบ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้กลายสถานะเป็นโรงงานตามนิยามของกฎหมาย ขณะชาวบ้านยังคงตระเวนร้องเรียนไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาแก้ปัญหากลิ่นและน้ำเสียในพื้นที่ แต่ไม่เป็นผล กระทั่งมลพิษขยายวงกว้าง ปรากฏชัดจากการที่น้ำในสระสาธารณะกลางหมู่บ้านเปลี่ยนสี ต้นยางล้มตายหลักพันต้น ชาวบ้านสูญเสียทั้งผลผลิตและโอกาสทางการเกษตรเป็นหลักล้านบาท จากการที่ดินกลายสภาพเป็นพื้นที่ที่ต้นไม้ไม่อาจยืนต้นมีชีวิตได้

ปี 2564 ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง พึ่งอำนาจศาล โดยยื่นฟ้องบริษัทวิน โพรเสส จำกัด และพวก ฐานก่อมลพิษ เรียกร้องค่าเสียหาย 47 ล้านบาท และขอให้ศาลสั่งให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีดังเดิม โดยหลังจากสืบพยานทั้งสองฝ่าย รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลระยองได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ (13 ธ.ค. 65)

นอกจากชาวบ้านแล้ว กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยังนำเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษในกรณีนี้ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 โดยที่ประชุมมีมติให้ คพ.พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 96 และ 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

จากการรวบรวมพยานหลักฐานของ คพ. พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะครอบคลุมค่าสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ของประชาชน จำนวน 47 ล้านบาท (ประชาชนได้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเอง) , ค่าเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ (อบต.บางบุตร จะเป็นผู้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย) และ
ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,322,077,753.12 บาท ซึ่งในส่วนนี้ คพ.เป็นผู้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหาย

Related Posts

Send this to a friend