AROUND THAILAND

สกสว.ลงพื้นที่หารือกรมชลประทาน สานพลังกับทุกภาคส่วน-พร้อมรับมือภัยแล้ง

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมพื้นที่ และติดตามหนุนเสริมการดำเนินงาน ของหน่วยรับงบประมาณในระบบ ววน. ณ กรมชลประทาน สามเสน เพื่อรับฟังการนำเสนอภาพรวม การบริหารงานวิจัยของกรมชลประทาน รวมถึงร่วมหารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณ ของทุนสนับสนุนงานมูลฐาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนส่งเสริม ววน.เพื่อการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ขณะที่กรมชลประทานพร้อมนำผลงานวิจัย รับมือภัยแล้งรุนแรงในระยะ 4-5 ปี ไปใช้ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝน และใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า “การจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือ สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการดำเนินงานตามพันธกิจ โดยใช้ ววน.เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้กรมชลประทานเป็นกรมใหญ่ที่สุดในเชิงงบประมาณ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากน้ำเป็นหัวใจสำคัญ ของการพัฒนาประเทศ จึงต้องทำให้ศักยภาพของบุคลากรได้รับการยอมรับ และยกระดับติดอาวุธให้ทีมวิชาการซึ่งเป็นมันสมองของหน่วยงานแข็งแกร่งขึ้น และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ที่ต้องอาศัยข้อมูลและชุดความรู้ รวมทั้งมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนการทำงาน ตามแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำ”

“กรมชลประทานควรบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดคลัสเตอร์ด้านการจัดการน้ำ รวมถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่สำคัญ คือ ชาวบ้าน ประชาชน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพลังจากทุกภาคส่วน จะทำให้การทำงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกับช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้โครงการวิจัยที่ดีอาจยกระดับ เป็นโครงการต่อเนื่อง multi-year หรือขอรับทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ และแผนงานวิจัยในภาวะวิกฤต เช่น น้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ต้องมีภาพที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาด้วย ววน.พร้อมกันนี้อยากให้กรมชลประทาน ส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสริมสร้างแต้มต่อ เพื่อความเข้มแข็งโดยการรับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่น เพื่อสะท้อนความสำเร็จของหน่วยงานด้วย”

ขณะที่ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. กล่าวว่า “มีทั้งนโยบายสาธารณะ การบริหารจัดการน้ำร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งยังมีช่องว่างต่างๆ เช่น การผลักดันนโยบายจากข้างล่างขึ้นบน การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ไม่มีระบบการบริหาร จัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง จึงควรเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมกับสุขภาพ/สุขภาวะ พื้นที่ และกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ควรลงไปถึงชุมชน นอกจากนี้ สกสว.ยังจัดประชุมหารือการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ซึ่งมีโจทย์สำคัญ อาทิ การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การบริหารจัดการน้ำ การปฏิรูปองค์กรและระบบ การบริหารจัดการน้ำของประเทศ การวางแผนระยะ 5 ปี และเตรียมการระบบข้อมูล เทคโนโลยี ความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับมือภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแซนด์บ๊อกซ์วางแผนโรดแมป ทำแผนปฏิบัติการ 10 ปี เพื่อให้มีกลไกร่วมกันขับเคลื่อน ววน.และทำงานร่วมกับสังคม-สช.”

ด้าน ดร.ปริญญา กมลสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ กรมชลประทาน เผยว่า “กรมชลประทานได้รับงบประมาณ จาก สกสว.อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและบุคลากร นำไปสู่การบริหารงานน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรมชลประทาน พร้อมรับคำแนะนำจาก สกสว.และจะนำข้อมูลไปถ่ายทอดแก่บุคลากร เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป ซึ่งกรมชลประทานมีข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่ ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดยจะป้อนองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย”

“สำหรับการรับมือกับภัยแล้งรุนแรงในระยะ 4-5 ปีนี้ กรมชลประทานจะนำผลงานวิจัย ไปใช้ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝน ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด เช่น ป้องกันการรั่วซึม ลดวัชพืชในแหล่งน้ำ ควบคุมการส่งน้ำในปริมาณ ที่ต้องการของพื้นที่อย่างแม่นยำ การปลูกพืชที่เหมาะสม การใช้เครื่องสูบน้ำ เก็บน้ำไว้ได้มากที่สุด หาแหล่งน้ำเพิ่มเติม รวมถึงแก้ปัญหาน้ำเสีย โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าเอลนีโญ จะส่งผลให้แล้งยาวนาน สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงบริหารจัดการน้ำร่วมกับ 38 หน่วยงาน เพื่อออกมาตรการการบริหาร จัดการน้ำฝน 12 มาตการ เช่น กักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ จัดลำดับความสำคัญ ในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก การวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อให้สอคดล้องกับน้ำต้นทุน การสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้แก่ประชาชน”

Related Posts

Send this to a friend