HEALTH

แพทย์รามาฯ เผย โรคจิตเวช เหมือนโรคเรื้อรังต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง

นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผย โรคทางจิตเวช เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่ส่งผลกระทบ ต่อการใช้ชีวิต ทั้งผู้ป่วย คนรอบข้างและสังคม ไม่ต่างกับโรคทางกาย หากแต่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลนี้อาจทำให้ใครหลายคนละเลย หรือหลงลืมการดูแลจิตใจ ที่ถูกกระทบจากความเครียด ความรวดเร็ว และไม่แน่นอน ดังนั้นการหมั่นดูสุขภาพใจ ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสุขภาพทางสังคมด้วยนั้น จึงอยากให้ทุกคนควรให้สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้

สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงตัวเลขภาพรวมผู้ป่วยจิตเวชว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ข้อมูลถึงเดือนเมษายน) มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา (ผู้ป่วยนอก) ประมาณ 1.70 แสนคน หากย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยฯ ประมาณ 2.91 แสนคน และปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีผู้ป่วยฯอยู่ประมาณ 2.65 แสนคน

นพ.กานต์ เผยว่า “สำหรับผู้ป่วยโรคจิตเวชโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น และการรักษาจะคล้ายกับโรคเรื้อรัง กล่าวคือต้องอาศัยการดูแล และทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้ เพื่อใช้ในการรักษา เพราะยารักษา
โรคทางจิตเวชจำนวนไม่น้อย ยังอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และการรักษาโรคทางจิตเวชจะเป็นการรักษาแบบโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาต่อเนื่องจะช่วยให้อาการดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่อาการก็อาจกำเริบขึ้นได้เมื่อขาดยา ถูกกระตุ้นโดยความเครียด อดนอน หรือบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้การรักษาจะมีค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และอาจนำไปสู่การยุติการรักษาของผู้ป่วยได้”

“ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาค่อนข้างสูง เพราะส่วนหนึ่งยาที่นำมาใช้ในการรักษา จำนวนไม่น้อย ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมียาบางชนิดที่อยู่ในบัญชียาหลัก แต่สำหรับผู้ป่วย ที่เป็นโรคที่มีความซับซ้อน อาจต้องอาศัยการรักษาด้วยยาหลายชนิด ซึ่งไม่สามารถใช้เพียงยาในบัญชียาหลักได้ จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี นี่ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแล้วว่า จะบริหารจัดการเรื่องยาอย่างไร ทั้งนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีก็ยังมี “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” ภายใต้มูลนิธิรามาธิบดีฯ คอยช่วยเหลือผู้ป่วยที่แบกรับค่าใช้จ่าย ในการรักษาไม่ไหว ให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ ซึ่งโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้นั้น ครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท รวมไปถึงผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น”

สำหรับภาพรวมตัวเลขของผู้ป่วยยากไร้ จะพบว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยถึง 13.5% ที่ได้รับที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ในขณะที่ตัวเลขของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม) จะพบว่ามีผู้ป่วยถึง 16.5% ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคจิตเวชด้วย

“เรื่องสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญ ที่เทียบเท่าได้กับสุขภาพกาย แม้บางครั้งอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทุกวันนี้ ทุกคนก็เห็นแล้วว่าสำคัญ แต่ก็อยากจะเน้นย้ำว่า เมื่อสุขภาพจิตไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกาย และสุขภาพทางสังคมด้วย ดังนั้นไม่อยากให้ลืมเรื่องนี้ สำหรับการดูแลสุขภาพจิต สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นการ หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ตระหนักรู้ถึงสาเหตุของอารมณ์ และความเครียด รวมไปถึงการออกกำลัง การพูดคุยกับคนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อีกอันหนึ่งคือการฝึกการรับรู้อารมณ์ของเราเรื่อยๆ ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร พอรับรู้แล้วก็คล้ายๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน เปิดรับ ยอมรับ ว่าบางครั้งเราก็มีความทุกข์ มีวันที่อารมณ์ดี มีวันที่อารมณ์ไม่ดีเพราะเราก็เป็นมนุษย์”

สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นสามารถเกิดขึ้น ได้กับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เช่น โรคสมาธิสั้นสามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่น โรคอารมณ์สองขั้วสามารถพบได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่ตอนต้น ไปจนถึงตอนปลาย ส่วนโรคสมองเสื่อมก็เป็นส่วนหนึ่ง ของโรคทางจิตเวชที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดีโรคทางจิตเวช สามารถแบ่งได้หลายแบบ หากแบ่งตามอาการจะแบ่งได้หลักๆ เป็น 5 ด้าน ได้แก่

1.โรคที่มีอาการด้านพฤติกรรมผิดปกติ

2.โรคที่มีอาการด้านอารมณ์ผิดปกติ

3.โรคที่มีอาการด้านความคิดผิดปกติ

4.โรคที่มีอาการด้านการทำงานของสมอง ผิดปกติ (ความจำ สมาธิ การวางแผน การตัดสินใจ ฯลฯ)

5.โรคทางจิตเวชที่แสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย แต่ทั้งนี้โรคทางจิตเวชบางโรค ก็มีอาการคาบเกี่ยวกันหลายด้านได้เช่นกัน

“ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นอีกหนึ่งโรค ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายหรือไม่ ก็จะมีวิธีการประเมินอารมณ์ตนเองเบื้องต้น เช่น สังเกตว่าอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือไม่ หรือถูกทักจากคนรอบข้างว่า มีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เข้าสังคม รู้สึกไม่มีพลังหรือไม่ รวมไปถึงมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการนอน หรือการรับประทานอาหาร ขาดสมาธิเป็นต้น”

“นอกเหนือจากนั้นก็จะมีแบบคัดกรอง ที่หาได้ทั่วไปตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็มีแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า ที่สามารถหาในอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาคัดกรองเบื้องต้นได้โดยพิมพ์ค้นหาว่า PHQ-9”

มาร่วมกันดูแลสุขภาพใจ และเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอื่นๆ ทางร่างกาย และร่วมดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ต้องการรับการรักษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ คนทั่วไปสามารถบริจาคเงินสมทบทุน โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้,ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3,ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3,ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5 บริจาคออนไลน์ https://www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111”

Related Posts

Send this to a friend