AROUND THAILAND

‘ชาวบ้าน’ ที่บ้านถูกวางเพลิงเผยเคยโดนขู่ไล่ที่ ชี้ผลกระทบจากโครงการ EEC ไร้การช่วยเหลือและเยียวยา

จากกรณีวันที่ 7 ก.พ. 64 เกิดเหตุคนร้ายตระเวนเผาที่พักของชาวบ้าน หมู่ 2 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยเป็นเพิงพัก 2 หลัง และบ้านพักอีก 1 หลัง โดยหลังเกิดเหตุชาวบ้านสามารถล้อมจับคนร้ายไว้ได้ และดำเนินการแจ้งความที่ สภ.บางปะกง ซึ่งมีการระบุว่าคนร้ายเป็นคนวิกลจริต แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่เชื่อ เพราะคนร้ายมีท่าทีหลายอย่างที่ตีความได้ว่ามีสติสัมปชัญญะเหมือนคนปกติ
 
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ ต.เขาดิน ถือเป็นพื้นที่พิพาทเรื่องสิทธิการถือครองที่ดิน กับ สิทธิการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร และ ข้อขัดแย้งกรณีผังเมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณพื้นที่ EEC ระหว่างบริษัท อีเอ พลังงานบริสุทธิ์ กับ ชาวบ้านท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มองว่า การเข้ามาของโครงการดังกล่าวเป็นการทำลายพื้นที่ทำกิน และเป็นการเปิดทางให้ผู้มีอำนาจมาใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวนี้
 
นายผิน อ่อนพลับ ชาวบ้านที่ถูกคนร้ายเผาบ้าน เล่าบรรยากาศขณะเกิดเพลิงไหม้ว่า ขณะเกิดเพลิงไหม้ตนเองกลับมาจากแจ้งความเนื่องจากมีสิ่งของหายไปจากบ้าน เมื่อเดินทางมาถึงเห็นเพื่อนบ้านกำลังช่วยกันดับไฟ และคนร้ายได้หลบหนีไปอยู่ในน้ำไม่กล้าขึ้นมาบนบก เพราะกลัวถูกรุมประชาทัณฑ์ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบพื้นที่ คนร้ายจึงปรากฏตัวออกมา
นายผิน อ่อนพลับ ชาวบ้าน หมู่ 2 ต.เขาดิน อ.บางปะกง ที่ถูกไฟไหม้
สำหรับการต่อสู้กับการเข้ามาของโครงการ EEC นายผินระบุว่า เคยมีปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันเรียกตนเองไปประชุมว่าชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ได้รับการชี้แจงว่า พื้นที่ของตนเองนั้นมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาคุ้มครองอยู่อีก 6 ปี ตนเองจึงพยายามต่อสู้ดิ้นร้นทำมาหากินต่อไปเพื่อเอาขีวิตรอด นอกจากนี้ยังเคยถูกขู่ไล่ที่ ผ่านรูปแบบหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือโนติส ซึ่งรายละเอียดนั้นเป็นการขอความร่วมมือให้ออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลาประมาณ 15 วัน หากไม่ออกจะถูกข่มขู่ฟ้องร้องดำเนินคดี
 
ด้าน นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ในนามตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 พร้อมเผยกับ The Reporters ว่า หากย้อนกลับไปปี 2559 มีการใช้ ม.44 และประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่จัดทำโครงการ EEC จนปี 2560 มีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อให้อำนาจแก่คณะกรรมการ ในการดำเนินการหลายๆ อย่าง ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ถือเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เพราะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งการทำประมงที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านกว่า 75 ครัวเรือนตลอดทั้งปี
 
นายสุพจน์ ระบุเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า พื้นที่ 3 น้ำ ได้แก่ ช่วงน้ำจืด เดือน ก.ค.-พ.ย. ชาวบ้านจะทำการปลูกข้าว ต่อมาช่วงน้ำกร่อย เดือน พ.ย.- ม.ค. ชาวบ้านจะเลี้ยงกุ้ง ปู และปลา ท้ายที่สุดคือช่วงน้ำเค็ม เดือน ก.พ.-มิ.ย. ที่มีการเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่องจากช่วงน้ำกร่อย ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติ โดยเชื้อของสัตว์เหล่านี้จะกำเนิดเองและไหลมากับกระแสน้ำ ซึ่งรายได้ต่อคืนของชาวบ้านช่วงที่เหตุการณ์ปกติ โดยเฉลี่ยจะได้คืนละประมาณ 5 พันบาท
อย่างไรก็ตาม นายสุพจน์ ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาชาติและพรรคฝ่ายค้านได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการซื้อที่ดิน ถูกบอกให้รื้อย้าย และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ เป็นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งรัฐภา แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดังกล่าวยังไร้ความคืบหน้า
 
ทั้งนี้ ประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะช่วยกันตรวจสอบประกอบด้วย 5 ประเด็น อันได้แก่ การหามาตรการและความร่วมมือจากท้องที่และท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในสวัสดิการและสวัสดิภาพของตนเอง พร้อมติดตามความคืบหน้าของการนำคนผิดทุกคนมาลงโทษ และติดตามกระบวนการที่ชาวบ้านถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่ ทั้งส่วนที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกข่มขู่บังคับ และถูกรื้อบ้าน ต่อมากระทรวงเกษตรฯ ต้องหาที่ทำกินใหม่ให้ชาวบ้าน เพราะพื้นที่ตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และในฐานะที่พรรคประชาชาติและพรรคฝ่ายค้านพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนวิธีการของอีอีซี พร้อมผลักดันให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
โดยนายสุพจน์ กล่าวถึง ผลกระทบของโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินกว่า 75 ครัวเรือน เฉลี่ยประมาณ 300 คน ส่วนแม่น้ำบางปะกงในอนาคต ที่จะมีกระบวนการผลิต แบตเตอรี่เป็นวัตถุอันตราย จะก่อให้เกิดผลกระทบได้อย่างร้ายแรงกับแม่น้ำ อีกทั้งน้ำประปาของ อ.บางปะกง จะไม่พอใช้ และจะมีคุณภาพต่ำ เมื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม น้ำมหาศาลจะถูกดึงไปใช้เพื่อการผลิตและป้อนโรงงานอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนและแย่งน้ำประปามากขึ้นในอนาคต
พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกรณีคนร้ายทำการเผาบ้านเรือนชาวบ้านว่า บุคคลผู้มากระทำการน่าจะเป็นคนมีองค์ความรู้เรื่องการปฏิบัติการเชิงลึก นอกจากนี้ขณะไปให้ปากคำกับตำรวจผู้ก่อเหตุมีลักษณะเสมือนผู้มีองค์ความรู้ ซึ่งตนเองไม่เชื่อว่าเป็นคนสติไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ขณะที่ตำรวจจะให้เซ็นคำยินยอม ผู้ร้ายยังขอตรวจสอบและขออ่านเพื่อความมั่นใจ จึงมั่นใจว่าพฤติกรรมของคนร้ายถูกฝึกมาเป็นอย่างดี
 

Related Posts

Send this to a friend