AROUND THAILAND

ศาลแพ่ง มีคำสั่ง ห้ามนายกรัฐมนตรี บังคับใช้ ข้อกำหนดที่ 29 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการชั่วคราว

ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนายกรัฐมนตรีใช้ข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตรา 9 ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดเน็ตสื่อ หากเผยแพร่ข้อความให้เกิดความหวาดกลัว จนกว่ามีคำสั่งอย่างอื่น

จากกรณีศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ พ. 3618/2564 ที่ภาคีนักกฎหมาย และตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ 12 รายยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ .ศบค.ให้ถอนคำสั่งการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯข้อกำหนดที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ตัด-เน็ตดำเนินคดีสื่อออนไลน์

วันนี้ (6 ส.ค. 64) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.20 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวมิได้ จำกัด เฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้นมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้างทำให้โจทก์ทั้งสิบสองประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา 35วรรคหนึ่งบัญญัติคุ้มครองไว้

นอกจากนี้ยังเป็นการ จำกัด สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสองหรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตามความในมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์ จำกัด การเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคลทั้งข้อกำหนดข้อดังกล่าวมิได้ จำกัด เฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ

การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ กรณีมีเหตุจำเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาตรา 255(2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่งและการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ

เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วยจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558(ฉบับที่29) เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

โดย นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายประจำศูนย์สิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บังคับใช้กำหนดฉบับที่ 29 ตามคำสั่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยศาลพิจารณาและให้เหตุผลว่า ข้อกำหนดที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัว เป็นข้อกำหนดที่ไม่มีมีความชัดเจนแน่นอนในขอบเขต ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนและประชาชน สับสน ไม่รู้ว่าขอบเขตในการใช้เสรีภาพนั้นเป็นอย่างไร การนำเสนอความจริงจะขัดต่อข้อกำหนดนี่หรือไม่ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประการที่ 2 ข้อกำหนดที่ให้อำนาจ กสทช.ในการระงับอินเตอร์เน็ต ศาลเห็นว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนด ไม่ได้ออกข้อกำหนดที่สั่งระงับอินเตอร์เน็ตได้ ข้อกำหนดนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอินเตอร์เน็ตมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นการระงับไปถึงอนาคตด้วย

ประการที่ 3 การระงับข้อบังคับ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินได้รับการกระทบกระเทือนหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะรัฐบาลยังสามารถบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาหรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการเอาผิด กับข่าวเฟคนิวส์ โดยส่วนตัวก็พอใจกับคำสั่งศาลในครั้งนี้ มองว่าศาลเห็นถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ สื่อมวลชนควรได้รับสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา แม้ความจริงบางครั้งอาจจะน่ากลัวก็ตาม

ด้านนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ตัวแทนสื่อมวลชนในฐานะผู้ร้อง ระบุว่า แม้ว่าวันนี้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง แต่ในฐานะสื่อก็ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพและความรับผิดชอบและคงไม่นำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัวอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวัลอย่างแน่นอน ยืนยันใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม

Related Posts

Send this to a friend