AROUND THAILAND

ชป.ถอดบทเรียนปัญหาอุทกภัย เดินหน้าจัดจราจรน้ำชี-มูล เร่งระบายลงโขง

กรมชลประทาน ถอดบทเรียนอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562 เดินหน้าจัดการจราจรน้ำแม่น้ำชี-แม่น้ำมูล ตัดยอดน้ำลงลำน้ำสาขา และแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำ เร่งระบายน้ำมูลลงแม่น้ำโขง บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในลุ่มน้ำชีตอนกลาง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลาง และไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูล ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (4 ต.ค.64) ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 (บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมืองอุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่งประมาณ 45 เซ็นติเมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำมูล ในเขตเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ กรมชลประทานได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และเตรียมกระสอบทราย เพื่อสนับสนุนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ด้านนายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 เปิดเผยภายหลังการประชุมบูรณาการร่วมบริหารจัดการจราจรน้ำแม่น้ำชี-แม่น้ำมูล ว่า ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำมูลบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,588 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ประมาณวันละ 246.76 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล (แก่งสะพือ) ช่วยเพิ่มอัตราการไหลได้ประมาณวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และนำเรือดูดทรายลงไปช่วยในการผลักดันน้ำในแก่งสะพือ ได้ประมาณ 5 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มและมวลน้ำจากตอนบนไม่เพิ่มความเร็วในการไหลลงมาที่แม่น้ำมูล จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีรอดพ้นวิกฤติน้ำท่วมหนักได้

ทั้งนี้ นายจักริน กล่าวด้วยว่า จากการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานชลประทานทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา น้ำจากตอนบนจะใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์ จะมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณวันที่ 18 – 19 ตุลาคม นี้ ทำให้ยังมีเวลาในการเตรียมรับน้ำได้ทัน และภายหลังระดับน้ำเริ่มลดลงจะเริ่มเก็บกักน้ำไว้ เพื่อใช้ในฤดูแล้งปีหน้า ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้เน้นย้ำให้เก็บน้ำไว้ที่ต้นน้ำ กลางน้ำให้ชะลอ และระบายออกทางปลายน้ำ การบริหารจัดการน้ำที่สัมพันธ์กัน ตลอดจนร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อมาที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ปัญหาอุทกภัย สำนักงานชลประทานที่ 7 โทร. 045- 245979 หรือโครงการชลประทานใกล้บ้าน และสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

Related Posts

Send this to a friend