HEALTH

หลายฝ่ายร่วมพัฒนากลไก เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก และบุคคลออทิสติกอย่างยั่งยืน

วันนี้ (3 มี.ค. 66) นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกิจกรรมรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2566 (16 th WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD) วานนี้ (2 เมษายน 2566) พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) เพื่อพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก และบุคคลออทิสติก ให้สามารถเข้าถึงการศึกษา และบริการทางการแพทย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยประเด็นรณรงค์ในปี 2023 ได้แก่ “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All” ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศ ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้รับสิทธิ และเข้าถึงบริการเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุกูล กล่าวว่า “กิจกรรมรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก เป็นไปตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ประกาศข้อมติที่ 62/139 ในปี ค.ศ. 2007 ที่กำหนดให้ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์เพื่อเด็กและบุคคลออทิสติก โดยมุ่งหมายให้สังคมโลก ร่วมกันจัดบริการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต บุคคลออทิสติกอย่างบูรณาการ ตลอดเส้นทางชีวิตของแต่ละบุคคลอย่างสอดคล้อง กับความต้องการจำเป็น ทั้งองค์การสหประชาชาติ จัดได้กิจกรรมรณรงค์นี้เป็นปีที่ 16 โดยประเทศไทยได้ดำเนินการ สนับสนุนมาโดยตลอด โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ 14 ที่เครือข่ายออทิสติก จัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง”

“และปีนี้มีความพิเศษ คือ หน่วยงานด้านดูแลงานสุขภาพระดับประเทศ ได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันด้วย โดยประเด็นรณรงค์ในปี 2023 ได้แก่ “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All” ที่มุ่งให้บุคคลออทิสติกไปสู่เป้าหมาย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งหมายให้ประเทศขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ให้บุคคลออทิสติกได้รับสิทธิ เสรีภาพ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิคนพิการด้วยการสนับสนุน การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมถ้วนหน้า ความเสมอภาคในการทำงาน การสนับสนุนการตัดสินใจ ของบุคคลออทิสติกในระดับนโยบาย การส่งเสริมครอบครัว ผู้ดูแล และเครือข่ายด้านบุคคลออทิสติก ให้สอดคล้องกับวาระแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปสู่ความยั่งยืน ของบุคคลออทิสติก ในส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้นำประเด็นต่างๆ ไว้ใน “แผนปฏิบัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระยะ 5 ปี 2566-2570”

“ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญสำหรับเด็กบุคคลออทิสติก และบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ คือ ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐานการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ และการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยรัฐต้องจัดให้มีหลักประกันการเข้าถึง การศึกษาในทุกระดับ การส่งเสริมการทำงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำและการมีส่วนร่วม ในการพัฒนา เพื่อให้บุคคลออทิสติก เข้าถึงสิทธิที่เป็นจริงในทุกด้านสอดคล้องกับหลักการ แผนปฏิบัติรูปประเทศด้านสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ด้วย”

ด้าน นายแพทย์จุมภฏ กล่าวว่า “กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญ ต่อการดูแลเด็กออทิสติกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดบริการบำบัดรักษาเด็กออทิสติกเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าอัตราการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับออทิสติกยังมีเพียง ร้อยละ 50 เนื่องจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และสหวิชาชีพด้านนี้ มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ยังมีไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลิตจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และดำเนินงานภายใต้ “โครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น”

“เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต ให้สามารถจัดบริการสำหรับเด็กออทิสติก พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาหน่วยร่วมบริการสำหรับบุคคลออทิสติก ระหว่าง กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิออทิสติกในวันนี้ จึงนับเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปให้เป็นหน่วยร่วมบริการสุขภาพปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับบุคคลออทิสติก เพื่อให้สามารถจัดบริการเบื้องต้นให้กับบุคคลออทิสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญได้แก่ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม การดูแลผู้ป่วยออทิสติก สำหรับบุคลากรผู้ให้บริการในศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จำนวน 32 แห่ง การร่างมาตรฐานหน่วยร่วมบริการ ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ สำหรับบุคคลออทิสติก การจัดทำร่างเกณฑ์การรับส่งต่อระหว่างหน่วยร่วมบริการและหน่วยบริการทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ต้นทุน ต่อหน่วยบริการ และจัดทำข้อเสนอในเรื่องกำหนดอัตราค่าบริการ ทั้งนี้จากความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ นับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการดูแลบุคคลออทิสติกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขต่อไป”

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) กล่าวว่า “จัดกิจกรรมรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่า ทุกภาคส่วนของสังคม ควรมุ่งไปสู่โลกที่ยอมรับความหลากหลายแตกต่างของบุคคล พัฒนาระบบนโยบาย การยอมรับบุคคลออทิสติกทั้งในระดับบ้าน ครอบครัว ชุมชน สถานที่ทำงาน และสังคม โดยส่งเสริมให้บุคคลออทิสติก เข้าถึงสิทธิ พิทักษ์สิทธิของตน เข้าถึงการศึกษาแบบเรียนรวม การเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่เท่าเทียม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระดับต่างๆ การสนับสนุนบทบาทของครอบครัว ชุมชน เครือข่ายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้แทนชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก ระดับจังหวัด บุคลากรในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การ จัดความช่วยเหลือบุคคลออทิสติกในระดับชุมชน”

“และนำประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน ในการส่งเสริมศักยภาพบุคคลออทิสติก และครอบครัวสู่การปฏิบัติ การเรียนรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวข้อง กลไกการคุ้มครองสิทธิ การขจัดการเลือกปฏิบัติ แนวคิดในการส่งเสริมพัฒนาการ และการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม และในปีนี้มูลนิธิออทิสติกไทย ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนและประชาชน ที่สนใจสนับสนุนเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว ในชุมชนต้นแบบ 20 จังหวัด” ที่มีการใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ระบบอินเตอร์เน็ต และการจัดอุปกรณ์ เช่น แท็บเล็ตที่มีโปรแกรมฝึกทักษะภาษาและการสื่อสาร การฝึกทักษะชีวิต ทักษะสังคมและเครื่องมือสังเกตและคัดกรองพัฒนาการเบื้องต้น”

“ทั้งนี้จะทำการศึกษาวิธีการกับกลุ่มเป้าหมาย 500 คน เพื่อสรุปเป็นบทเรียน และขยายเป็นรูปแบบบริการที่มีมาตรฐานต่อไป ความร่วมมือเพื่อบุคคลออทิสติก จากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กรมสุขภาพจิต เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นการส่งเสริมการบริการ ทางการแพทย์และการช่วยเหลือ เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้ใช้ชีวิต ในสังคมอย่างเป็นปกติ และเกิดความผาสุขทุกภาคส่วนร่วมใจ ดูแลออทิสติกให้เข้าถึงบริการ สธ.และพัฒนาคุณภาพชีวิต”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat