WORLD

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ การเติบโตทั่วโลก เป็น 3.1% ในปี 2024

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ การเติบโตทั่วโลก เป็น 3.1% ในปี 2024 สูงกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 0.2 จุด

เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2567 รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับใหม่ ระบุว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกเป็นร้อยละ 3.1 ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 0.2 จุด โดยแนวโน้มขาขึ้นครั้งนี้สะท้อนการปรับเพิ่มตัวเลขการเติบโตของจีน สหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2024 และปี 2025 ข้างต้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2000-2019 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายการเงินที่มีข้อจำกัด การถอนการสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำ

ปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนฯ แถลงข่าวในนครโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงแสดงความสามารถการฟื้นตัวได้อย่างน่าทึ่ง โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง การเติบโตยังคงดำเนินต่อไป ขณะโอกาสการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) เพิ่มสูงขึ้น ทว่าอัตราการขยายตัวยังคงอยู่ในระดับต่ำ

การเติบโตในจีนคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ในปี 2024 โดยมีการปรับเพิ่มที่ 0.4 จุด นับตั้งแต่รายงานแนวโน้มฯ เมื่อเดือนตุลาคม ขณะที่การเติบโตของสหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2024 สูงกว่าการคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 0.6 จุด ส่วนพื้นที่ยุโรปคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2024 ต่ำกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน 0.3 จุด

กองทุนฯ เผยว่าภาวะเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในภูมิภาคส่วนใหญ่ ท่ามกลางปัญหาด้านอุปทานที่กำลังคลี่คลาย และนโยบายการเงินที่มีข้อจำกัด ทว่ากูรินชาสเตือนว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มีการโจมตีเรือในทะเลแดงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก

กูรินชาส ยังเน้นย้ำถึงต้นทุนของการแยกส่วนของภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลก (geo-economic fragmentation) โดยระบุว่าการวิจัยของกองทุนฯ เผยว่าต้นทุนนี้อาจอยู่ในช่วงร้อยละ 3-7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก ซึ่งประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการบิดเบือนทางการค้า

กูรินชาสทิ้งท้ายว่าการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นยังอาจมาจากการจำกัดการแยกส่วนของภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลก อาทิ การขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ขัดขวางกระแสการค้าระหว่างกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend