WORLD

เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทยยอมรับวิกฤตยูเครนเป็นอุปสรรคเจรจาในวงประชุม

ยันเดินหน้าฝ่าความท้าทาย หาฉันทามติในแถลงการณ์ร่วมอีก 2 ฉบับ หลังที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคสรุปเป้า BCG แล้วเช้านี้

วันนี้ (17 พ.ย. 65) นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย และ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 29 ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมร่วมกัน

เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเอเปคแบบเต็มคณะในช่วงแรก ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่พบกัน ซึ่งรัฐมนตรีจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมครบทุกท่าน โดยมีเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมสังเกตการณ์

สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อที่ประชุม คือ ทั้งโลกกำลังประสบปัญหาร่วมกันสองเรื่องหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งทางความมั่นคงที่ไม่นำไปสู่ทางออกใด และความท้าทายทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ที่ประชุมเดินหน้าร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีเอเปคให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีการพูดถึงเรื่องการแสวงหาสันติภาพ เรื่องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโดยใช้การพูดจาสนทนากันโดยปราศจากความขัดแย้งเป็นตัวตั้ง นี่คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่รัฐมนตรีจากทุกเขตเศรษฐกิจพูดในที่ประชุม

เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะในประเด็นความยั่งยืน การมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือ การสรุปการเจรจาเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจให้ความเห็นชอบต่อไปในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (19 พ.ย. 65)

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการปรับแก้เอกสารผลลัพธ์การประชุมเอเปค ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคหรือไม่ นายเชิดชาย ตอบว่า การเจรจาเอกสารผลลัพธ์การประชุมเอเปค ไม่ใช่เป็นการเจรจาแบบจำแนกแต่ละระดับแยกกัน เช่น ระดับรัฐมนตรีแล้วส่งต่อไปให้ระดับผู้นำพิจารณา แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสได้ทำงานหารืออย่างใกล้ชิดกับตัวรัฐมนตรีที่อยู่ในกระทรวงแต่ละเขตเศรษฐกิจก่อนที่จะเดินทางมาประชุมกันวันนี้ ที่เราใช้เวลาเจรจาเรื่องเป้าหมายกรุงเทพฯ กันถึงดึกหลายวัน คือการหารือกับรัฐมนตรีต้นสังกัดและนำมาพิจารณา ดังนั้น ส่วนที่เป็นคำแนะนำจากระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสนั้นก็เป็นการสรุปจากแนวทางที่มาจากระดับรัฐมนตรี

สำหรับแถลงการณ์ร่วมอีก 2 ฉบับทั้งระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรีนั้น นายเชิดชาย ตอบว่า เรากำลังทำงานกันอยู่ตอนนี้ เนื้อหามีค่อนข้างมาก ตัวแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีมีเนื้อหาอยู่ 49 ย่อหน้า ส่วนแถลงการณ์ระดับผู้นำมีเนื้อหาอยู่ 20 ย่อหน้า ซึ่งที่ประชุมพยายามไล่หารือทุกย่อหน้า แต่ต้องใช้เวลา

“ประเด็นที่คุยกันมันเยอะมาก ๆ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนว่างานเอเปคเป็นงานที่ครอบคลุมความร่วมมือที่ลึกซึ้งมาก การเจรจาร่างเอกสารทั้งหมด ไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่เริ่มตั้งแต่ต้นปี แล้วสร้างโมเมนตัมไปเรื่อย ๆ รายละเอียดการเจรจาอย่างเข้มข้นจนถึงวันนี้ก็ร่วม 4 สัปดาห์แล้ว ก็หวังว่าเราจะหาฉันทามติได้ในแต่ละย่อหน้าของเอกสารทั้งหมด” เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย

อย่างไรก็ตาม นายเชิดชาย ยังตอบคำถามสื่อมวลชนต่างชาติ โดยยอมรับว่า การร่างแถลงการณ์ร่วมทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำ มีอุปสรรคสำคัญคือการหาถ้อยคำร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เพราะเป็นปัจจัยต่อการชะงักตัวของเศรษฐกิจ จนทำให้ยากต่อการบรรลุฉันทามติได้ ซึ่งเป็นปกติที่จะไม่ง่ายนักที่เราจะหาความเห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็นได้ทั้งหมด แต่ทางเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้ทำงานอย่างหนักร่วมกันตลอดหลายวันที่ผ่านมา

“ผมยืนยันได้ว่าสถานการณ์ในยูเครนเป็นองค์ประกอบที่ท้าทายที่สุด ต่อการหาถ้อยคำที่ยอมรับได้ร่วมกันในแถลงการณ์ร่วม” เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในห้องประชุมได้ เนื่องจากการเจรจายังไม่สิ้นสุด แต่สิ่งที่สามารถเล่าให้ฟังเบื้องต้นได้คือ เขตเศรษฐกิจยังมีท่าที มุมมอง ความเข้าใจ หรือการตีความ ที่มาของผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแตกต่างกัน เราจึงต้องหาถ้อยคำหรือจุดที่พอจะมองร่วมกันได้ แต่ปัญหาคลาสสิกคือ คงเป็นการยากที่จะให้ทุกคน โดยเฉพาะทั้ง 21 คนจาก 21 เขตเศรษฐกิจมองร่วมกันและแบ่งปันวิธีคิดคล้ายกันได้ แต่เราพยายามที่จะหาฉันทามติร่วมให้ได้

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend