POLITICS

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จับมือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (30 พ.ค. 66) นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากรทางนิติวิทยาศาสตร์ ณ อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร รวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและงานนิติวิทยาศาสตร์ ให้สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐาน เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการยุติธรรม โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีนายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ ดร.สุธิดา สุวรรณรังษี ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายฯ ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง และ ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิชาการและวิจัย เข้าร่วมงาน

นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า แสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิชาการ วิจัย และการบริการสหสาขา ทั้งด้านวัสดุศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ รวมถึงนิติวิทยาศาสตร์ เป็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย และนวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อการให้บริการทางนิติวิทยาศาสตร์และการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ในการยืนยันข้อเท็จจริง การอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคมให้แก่ประชาชน

รศ.ดร.สาโรช กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานมีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และความรู้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างทักษะใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน สร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ ใช้เป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ

Related Posts

Send this to a friend