POLITICS

สว.จเด็จ ถาม “ประชาชนจะได้อะไรขึ้นมา” จากการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.

สว.จเด็จ ถาม “ประชาชนจะได้อะไรขึ้นมา” จากการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. มองเปลืองงบประมาณทำประชามติ-ตั้ง สสร. ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ย้อน รธน.60 แม้มาจากรัฐประหาร แต่ก็มาจากการทำประชามติเหมือนกัน

วันนี้ (30 ต.ค. 66) นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นว่าจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น หรือทำให้ยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปดีขึ้น มองเป็นการแก้เอามัน ไม่เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องเร่งทำเลย

นายจเด็จ กล่าวว่าหากยังกังวลเรื่องอำนาจ สว. ชุดนี้ บทเฉพาะกาลก็จะหมดในเดือน พฤษภาคมนี้แล้วซึ่งเหลืออีกไม่กี่เดือน ตรงกันข้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความเห็นต่าง ซึ่งไม่ดี ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคนในชาติ และขอถามว่าประชาชน ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้อะไรขึ้นมา เพราะเราอยู่อย่างมีความสุข มีความมั่นคงอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ในนโยบาย มี สสร.มายกร่างเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดเห็นอย่างไร นายจเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่พรรคทางเมืองประกาศแล้ว ลืมประกาศว่า แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร แก้เพื่ออะไร ยิ่งไปตั้ง สสร. ไปทำประชามติ ยิ่งเปลืองเงินเปลืองทองเยอะแยะ ตอนนี้ต้องพูดคุยหามุมมองกันไป แต่มอง ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ถึงขั้นนั้น ที่จะมีการทำประชามติหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

“ยิ่งยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยิ่งไม่ได้ ยิ่งไม่ดีเลย จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายอย่าง มีเหตุผลที่พูดกันมานานแล้ว”

ส่วนที่บางฝ่ายมองว่าที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ทำให้ต้องร่างใหม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ก็พูดวนกันอยู่อย่างนี้ ตนคิดว่ามาจากการทำรัฐประหาร แต่ละรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็มาจากการทำประชามติเหมือนกัน มาจากการฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ เราก็พูดวนวนไปวนมาแบบนี้ แต่ประชาชนนั่งมองกันอยู่ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะดีขึ้น คนทำงานจะเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ราคารถไฟฟ้า ค่าน้ำมันจะลดลง เมื่อไหร่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอให้พูดกันตรงนี้ดีกว่า

หากมีการนำเสนอเข้าสภา ตนเองจะพิจารณาว่า สรุปมีการแก้ไขทั้งฉบับไหมหรือเสนอแก้รายมาตรา หรือหมวดไหนที่เขาแก้ตนก็จะดูและอภิปรายว่า แต่ละมาตราที่จะแก้อะไรเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ถ้าหากแก้ทั้งฉบับนั้นตนไม่เห็นด้วย

นายจเด็จ มั่นใจว่า มีสมาชิกวุฒิสภากว่าค่อนสภาที่มีความเห็นเหมือนกับตน แต่ตนก็ไม่สามารถพูดในนามตัวแทนของ สว. ได้ ส่วนที่รัฐบาลเสนอให้มีการแก้ไขโดยเว้นหมวดหนึ่งหมวดสองเอาไว้นั้น นายจเด็จบอกว่า หมวดหนึ่งหมวดสองว่าด้วยพระราชอำนาจ มีมากกว่า 38 มาตรา มันหลีกเลี่ยงยาก บางอย่างที่ต้องคำนึงถึงให้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ประชาชนจะได้อะไรขึ้นมา”

Related Posts

Send this to a friend