‘ศักดิ์สยาม’ ตอบกระทู้สดเรื่องแผนรองรับการเดินทางช่วงปีใหม่ 2566
‘ศักดิ์สยาม’ ตอบกระทู้สด เรื่อง กระทรวงคมนาคมมีแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 คาดรองรับคนเดินทาง 14.31 ล้าน ให้สะดวกและปลอดภัย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สด นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง กระทรวงคมนาคมมีแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 อย่างไร วันนี้ (29 ธ.ค. 65) ณ อาคารรัฐสภา ว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางไปท่องเที่ยงได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และห่างไกลโควิด โดยมีแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศการปีใหม่ 2566 ดังนี้
เทศกาลปีใหม่มีวันหยุดราชการ ติดต่อหลายวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 – 31 ธันวาคม 2565 และต่อเนื่องไปถึงวันที่ 1 – 2 มกราคม 2566 เป็นเวลาทั้งสิ้น 4 วัน รัฐบาลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการและตัวชี้วัดสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้รับผิดชอบตัวชี้วัด ได้แก่ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บที่เกิดบนถนน รวมถึงการบริการรถขนส่งสาธารณะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากการคาดการณ์ปริมาณการเดินทางของกระทรวงคมนาคม จะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว หรือทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และใช้บริการขนส่งสาธารณะ กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 เริ่มระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – วันที่ 4 มกราคม 2566 พร้อมกำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ “เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จากการคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในช่วง 7 วัน ของเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 จะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 14.31 ล้านคน – เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ 8.33 ล้านคน – เที่ยว โดยจำนวนคนเดินทางที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการคลี่คลายของปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยการเดินทางในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ
สำหรับการเดินทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟ ตามลำดับ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้จัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะทางบก ราง น้ำ และอากาศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด
นอกจากนี้ สนข. ได้คาดการณ์ว่าในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 จะมีปริมาณจราจรขาเข้าและขาออกกรุงเทพมหานครบนทางหลวงสายหลัก 5 เส้นทาง ในสายเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตกและใต้ รวม 4.79 ล้านคัน ดังนั้นเพื่อบริหารการจราจรให้เกิดความคล่องตัว กระทรวงคมนาคมรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า – ออกกรุงเทพมหานคร โดยขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาบ้านใกล้ (ระยะทาง 200 – 300 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร) เดินทางออกจากกรุงเทพทีหลัง และเดินทางกลับเข้ากรุงเทพก่อน โดยเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 และกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ก่อนวันที่ 2 มกราคม 2566
สนข. คาดการณ์ว่าหากประชาชนให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณการจราจรที่เกินกว่าความจุของถนนทั้งขาออกและขาเข้าได้ร้อยละ 75 และ 25 ตามลำดับ ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้เสนอมาตรการจูงใจให้ประชาชนวางแผนการเดินทาง เช่น บขส. ลดค่าโดยสาร 10 % ทุกเส้นทาง สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด เช่น การคืนพื้นผิวจราจร/ช่องจราจรบริเวณโครงการก่อสร้าง (Work Zone) การห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถใน 7 เส้นทาง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการประชาสัมพันธ์ให้ใช้เส้นทางเลี่ยง
มิติความปลอดภัยในการเดินทาง โดยตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน เช่น บริเวณจุดกลับรถ ทางแยก ทางข้าม จุดตัดถนนกับรถไฟและทางลักผ่าน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานในสังกัดจัดทำแผนบริหารความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงโดยคัดเลือกจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มาดำเนินการพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยให้แล้วเสร็จก่อนการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่น
การปรับปรุงทางกายภาพของถนนและทางรถไฟ และสภาพแวดล้อม การติดตั้งป้ายเตือนและอุปกรณ์ความปลอดภัย การลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ โดยเน้นพฤติกรรมเสี่ยง “ไม่ขับเร็ว – คาดเข็มขัดนิรภัย – สวมหมวกนิรภัย – ดื่มไม่ขับ – รักษาวินัยจราจร” และกำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย โดยการตรวจความพร้อมของพนักงานขับขี่ ยานพาหนะ และสถานีทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ การนำเทคโนโลยี เช่น กล้อง CCTV และระบบ GPS มาช่วยในการกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัย และการตั้งด่านตรวจความพร้อมของรถและพนักงานขับรถโดยสารบริเวณสถานีขนส่ง จุดจอด (Rest Area) และจุดตรวจความพร้อม (Checking Point) ทั่วประเทศ
โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางในระดับท้องถิ่น เช่น การรณรงค์ให้ชุมชนดูแลกันเอง การเฝ้าระวังจุดตัดถนนกับรถไฟ การดูแลจุดเสี่ยง และการตั้งจุดตรวจบริเวณชุมชน
มิติด้านการควบคุม COVID-19 กระทรวงคมนาคมเน้นย้ำให้ระบบขนส่งสาธารณะต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
การเตรียมการให้บริการประชาชน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันให้บริการประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 เป็นเวลา 7 วัน (ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 – วันที่ 4 มกราคม 2566) สำหรับมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพมหานคร – เมืองพัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน – บางพลี และตอนพระประแดง – บางแค) และทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่
ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก รวมทั้ง ทางพิเศษอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษอุดรรัถยา และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 2 วัน (ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2565 – วันที่ 1 มกราคม 2566) เปิดให้ใช้เป็นการชั่วคราวเส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ช่วงปากช่อง – สีคิ้ว – ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กิโลเมตร เฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 เป็นการเดินรถทางเดียวขาออกเป็นเวลา 3 วัน (ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2565) และเดินรถทางเดียวขาเข้าเป็นเวลา 4 วัน (ตั้งแต่วันที่ 1 – วันที่ 4 มกราคม 2566) ให้บริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C เป็นเวลา 7 วัน (วันที่ 29 ธันวาคม 2565 – วันที่ 4 มกราคม 2566)
นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการเน้นย้ำ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการดังนี้
1. ให้หน่วยงานขับเคลื่อนแผนนำไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำ Checklist และติดตามการดำเนินงาน
2. ให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท บริหารจัดการจุดเสี่ยง เช่น ทางโค้ง ทางลาดชัน จุดตัด และจุดบริการน้ำมัน โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลบริหารจราจร และทำการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า นอกจากนี้ให้ทำการตรวจสอบพื้นที่การก่อสร้างไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหมือนที่ผ่านมา ให้ทำการเปิดเลนพิเศษในระยะทางที่ยาวขึ้น รวมทั้งการให้บริการแอปพลิเคชั่นในการรายงานสภาพจราจรให้ประชาชนรับทราบแบบ Real-Time
3.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ประสานการดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการดูแลความปลอดภัยบริเวณจุดตัดรถไฟ รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์อาณัติสัญญาณ 4. ให้กรมการขนส่งทางบก เข้มงวดเรื่องจุดตรวจความพร้อม (Checking Point) เน้นตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่และยานพาหนะ รวมถึงผู้ประกอบการเดินรถให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกำชับรถรับจ้างสาธารณะให้บริการประขาชน โดยไม่ให้เกิดการร้องเรียน 5. ผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทางบก ราง น้ำ และอากาศ เตรียมยานพาหนะให้พร้อมและเพียงพอ โดยกำหนดเป้าหมายให้มีอุบัติเหตุในระบบขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์ รวมถึงให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสียในระหว่างการเดินทาง