POLITICS

เปิดแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จ และความตั้งใจ ดร.ยุ้ย ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติ

“เรามีหน้าที่ทำให้ดีที่สุดในทุกโอกาสที่เรามีอยู่” คิด ออกแบบ แก้ปัญหาบนฐานคิด เพื่อ ‘รอยยิ้มบนใบหน้าของทุกคน’ ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการออกแบบนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters หลังนายชัชชาติ เข้ารับตำแหน่งได้ 3 เดือน

ดร.เกษรา ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มลงมือทำในทุกนโยบาย แต่ส่วนของนโยบายที่ปฏิบัติได้เลยลงมือทำได้ง่ายกว่านโยบายที่ต้องใช้งบประมาณ และนโยบายที่ใช้งบประมาณบางนโยบายไม่สามารถมองเห็นได้จากคนภายนอกเพราะอยู่ในขั้นตอนการขับเคลื่อน รวมถึงได้เข้ามาทำงานในช่วงที่การจัดสรรงบประมาณได้จบไปแล้ว คณะทำงานต้องรีบมาวิเคราะห์งบประมาณในส่วนนี้ว่ามีจุดไหนบ้างที่จะสามารถนำมาขับเคลื่อนนโยบายของเราได้

…คิดไม่ออกเลยว่าถ้าเราไม่ได้ทำนโยบายมากมายถึง 216 ข้อ เชื่อว่าตอนนี้ยังนั่งคิดอยู่เลยว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่วันนี้เหมือนกับว่าใบสั่งอาหารมีเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องมานั่งเขียนเมนูเลย เราทำตามใบสั่งได้เลย คือข้อดีที่สุดที่เห็นจากการที่เราเขียนมาเยอะๆ ก่อนเข้ามาทำ…ดร.เกษรา กล่าว

ดร.เกษรา เล่าต่อว่า หลังจากเข้ามาทำสิ่งที่ต้องให้ความสนใจมากที่สุดคือการกระจายงานตามแผนนโยบายไปสู่ผู้ปฏิบัติงานให้ครบถ้วนและถูกต้อง มีบุคลากร กทม. กว่า 80,000 คน เชื่อว่ากลยุทธ์มีความสำคัญเพียง 20% แต่อีก 80% ที่เหลือคือการปฏิบัติ ต่อให้กลยุทธ์ดีมากแค่ไหนหากปฏิบัติไม่ได้ประชาชนจะได้ประโยชน์น้อย สิ่งสำคัญคือต้องแจกงานไปยังผู้ปฏิบัติให้เขาปฏิบัติงานได้

ความท้าทายอีกส่วนหนึ่งคือการทำงานภายใต้กฎเกณฑ์ของ กทม.ที่เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องดูให้ละเอียดว่าในหนึ่งนโยบายต้องอยู่ในหน่วยงานไหนของ กทม.บ้าง ดร.เกษรา เรียกนโยบายทั้ง 216 ข้อว่า ‘นโยบายแนวนอน’ เพราะในโครงสร้างของ กทม. มีสำนักที่แบ่งงานกันดูแลกว่า 60 สำนัก ในหนึ่งนโยบายอาจต้องอยู่หลายสำนัก เพราะจุดมุ่งหมายของนโยบายคือการที่ประชาชนได้รับความสะดวกตามเป้าหมายของนโยบายเป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเรื่องหาบเร่แผงลอยไม่ได้ถูกออกแบบมาเพียงทำให้หาบเร่แผงลอยได้กลับมาค้าขายอย่างเป็นระเบียบเท่านั้น แต่เราออกแบบไปถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เสริมความสามารถผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยให้มีความสามารถในเชิงธุรกิจที่ดีขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีขึ้น ดังนั้นในหนึ่งนโยบายจะมีชุดของนโยบายที่เกี่ยวเนื่องรวมอยู่ในนั้นด้วย และการทำเรื่องหาบเร่แผงลอยอาจต้องใช้บุคลากรจากกทม. ประมาณ 8 สำนัก โดยมีสำนักเทศกิจเป็นผู้ดูแลหลัก

“...เวลาเราทำนโยบาย เรามองประชาชนเป็นหลัก เราไม่ได้ทำงานอยู่ข้างใน กทม.มาก่อนไม่รู้หรอกว่าแต่ละสำนักต้องทำงานอะไรบ้าง เรารู้แต่ว่าตอนเราคิดนโยบาย เราอยากให้คนกรุงเทพทุกคนรู้สึกว่าเมืองกรุงเทพน่าอยู่ ตอนทำนโยบายก็จะคิดถึงหน้าคนก่อนเลย ว่าเราทำนโยบายนี้จะทำให้คนกลุ่มไหนมีหน้ายิ้ม ทำให้คนกลุ่มไหนดีขึ้น สำหรับเรา นโยบาย จึงไม่ใช่ Checklist แต่ทุกนโยบายมันมีหน้าคนแปะอยู่…

ดร.เกษรา เผยว่า หน้าที่ของทีมนโยบายคือการเอานโยบายทั้ง 216 ข้อมากระจายในแนวนอนมอบหมายให้แต่ละสำนักแบ่งความรับผิดชอบหลัก ความรับผิดชอบรอง ภายใต้ข้อจำกัดของนโยบายจึงถือเป็นความท้าทายในช่วงแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง และเราออกแบบมาแล้วว่า “นโยบายทำเพื่อประชาชน” ไม่ใช่ทำนโยบายเพื่อให้สำนักทำงานง่าย จึงต้องดูวิธีการทำงานที่เหมาะสมและทำได้ง่ายเพื่อให้ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนได้จริง

ดร.เกษรา พบว่าในกทม.มีเครื่องมือและงานวิจัยเยอะมากที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา รวมถึงมีกลุ่มองค์กรต่างๆที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาของเมืองมาก่อนหน้า ดังนั้นการประสานขอความร่วมมือ ขอองค์ความรู้ระหว่างองค์กรจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญที่ทำให้ทีมไม่ต้องเริ่มทำงานใหม่แต่ต้น แต่ชวนผู้คนที่รู้และเข้าใจปัญหามาช่วยเหลือกันให้เกิดผลสำเร็จกับประชาชน

ดร.เกษรา เผยถึงความท้าทายอีกด้านที่สำคัญคือการนำแนวคิดการทำงานแบบผสมผสานความร่วมมือ โดยใช้ฐานความคิดจากปัญหาของประชาชน ทลายกรอบ ขนบการทำงานในแบบเดิมมาใช้ในกทม. คือต้องทำให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นจุดมุ่งหมายเดียวกันในงานและพร้อมร่วมมือกันทำเพื่อให้งานสำเร็จ มีการอบรม ทำ Workshop เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมและความเข้าใจ “ต้องเอาความคิดตอนออกแบบนโยบายมาทำให้เกิดขึ้นจริง ภายใต้โครงสร้างและข้อจำกัดทั้งงบประมาณและเวลา

…เราต้องยอมรับว่าบางนโยบายไม่ควรจะจบที่ 4 ปีในวาระของผู้ว่าฯชัชชาติ เช่น เด็กในชุมชนต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้น คำพูดนี้ไม่ควรจบใน 4 ปี เพราะมันไม่ควรมีคำว่าจบ ควรเป็นสิ่งที่ทำต่อไปได้เรื่อยๆ ท่านผู้ว่าฯเคยบอกว่า เราคงไม่สามารถรู้หรอกว่าคนที่มาทำงานต่อจากเรา เขาอยากจะทำทุกอย่างเหมือนที่เราอยากทำไหม แต่เรามีหน้าที่ทำวันนี้ ใน 4 ปีนี้ ให้ดีที่สุด และหวังว่าถ้าเป็นนโยบายที่ดีไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ต้องมาทำต่อจะทำมันต่อไป…

ดร.เกษรา ยังยกตัวอย่างปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนในหลายมิติ ยากจะแก้ให้จบใน 4 ปี แต่เชื่อว่าการเริ่มแก้ไขอย่างน้อยถ้าช่วยทำให้ช่องว่างค่อยๆเล็กลงหรือย่นระยะเวลาให้สั้นลงได้ก็ดีแล้ว อย่างที่หลายคนพูดว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีคือการทำให้เยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ แต่หากเราแก้ด้วยการทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงลึกได้เพราะปัญหาอยู่ลึกกว่านั้น เช่น ปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีเหตุผลจากหลายปัจจัยเช่น ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาสภาพจิตใจ เป็นต้น ดังนั้นการเริ่มมองให้เจอปัญหาและแก้ไปพร้อมๆกันจะช่วยทำให้ดีขึ้นแต่ต้องใช้ระยะเวลาและปัจจัยอื่นด้วย

ดร.เกษรา เคยได้ลงพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครช่วงการคิดนโยบาย แล้วค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่าชุมชนแออัดจะดีขึ้นได้ ชุมชนต้องช่วยเหลือตัวเองในระดับหนึ่งคือการมีความสามัคคีในชุมชน เพราะคนในชุมชนแออัดเป็นกลุ่มเปราะบาง เขาคนเดียวต้องเจอเรื่องเศรษฐกิจที่เข้ามา บางทีค่าไฟแพงขึ้น ตกงานกระทันหัน เขาคนเดียวจึงสู้ยาก แต่หากเขามีคนในชุมชนที่อยู่ด้วยกันเหมือนมีเกราะคุ้มกันอีกชั้นหนึ่ง เช่น การตั้งสหกรณ์ในชุมชนจากความร่วมมือร่วมใจ มีการเก็บรายได้ตั้งกองทุนที่พร้อมช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนที่เจอภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจมากู้ยืมได้ในราคาดอกเบี้ยที่ไม่แพง ความเข้มแข็งของชุมชนจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันได้มาก

…เคยไปชุมชนหนึ่ง เขาปลูกเห็ดไว้เต็มชุมชนเลย เขาปลูกเอาไว้ไปขายแล้วเอารายได้มาเข้าสมทบสหกรณ์… นี่แหละ เราต้องทำให้เขาเข้าใจ พาเขาไปดูที่สำเร็จ เขาจะได้เห็น ไม่อย่างนั้นรัฐช่วยอย่างเดียวมันได้แค่จุดหนึ่ง รัฐต้องช่วยไม่ได้ปฏิเสธ แต่เขาต้องช่วยตัวเองด้วย ดังนั้นการอยู่คนเดียวมันอ่อนแอไป ต้องอยู่เป็นหมู่คณะ และหน้าที่ของรัฐคือทำให้เขาเป็นหมู่คณะ…” ดร.เกษรา กล่าวดร.เกษรา ทิ้งท้ายว่า การทำงานทั้งหมดเพราะฝันเห็นเมืองที่ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง ฉะนั้นเราจะต้องมีความหวังอยู่เสมอ และเมื่อเราเริ่มทำเราจะเห็นคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราและมาร่วมทำงานกับเราอีกมากมาย ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคืออยากเห็น กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น “ใครก็ตามที่มีจุดประสงค์ที่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ หน้ายิ้มได้ เข้ามาร่วมกันได้ มาแบ่งปันทรัพยากรกันได้” ใน 3 เดือนที่ผ่านมาเรามีความหวัง มีคนที่พร้อมอยากจะช่วยอยู่มากมาย เรามีความหวังในผู้คนและโอกาสมากมายที่จะทำให้ “กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่” เกิดขึ้นได้จริง

#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #ดรยุ้ยเกษรา #กรุงเทพมหานคร #ชัชชาติ

ดร.เกษรา ทิ้งท้ายว่า การทำงานทั้งหมดเพราะฝันเห็นเมืองที่ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง ฉะนั้นเราจะต้องมีความหวังอยู่เสมอ และเมื่อเราเริ่มทำเราจะเห็นคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราและมาร่วมทำงานกับเราอีกมากมาย ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคืออยากเห็น กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น “ใครก็ตามที่มีจุดประสงค์ที่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ หน้ายิ้มได้ เข้ามาร่วมกันได้ มาแบ่งปันทรัพยากรกันได้” ใน 3 เดือนที่ผ่านมาเรามีความหวัง มีคนที่พร้อมอยากจะช่วยอยู่มากมาย เรามีความหวังในผู้คนและโอกาสมากมายที่จะทำให้ กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ เกิดขึ้นได้จริง

Related Posts

Send this to a friend