POLITICS

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร บุก กสทช.ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร บุก กสทช.ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค หวั่น กสทช.หลีกเลี่ยง-ยื้อเวลาเคาะดีล หลังชง ‘ประวิตร’ สั่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจรอบ 2

วันนี้ (29 ส.ค. 65) นายพรหมศร วีรธรรมจารี และนายภาณุพงศ์ จาดนอก กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ยื่นหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามอำนาจอย่างถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายพรหมศร กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะยิ่งมีการแข่งขันเท่าไร ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค แต่เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่า กสทช.จะควบคุมอัตราค่าบริการได้หรือไม่ จึงอยากให้ กสทช.ใส่ใจผู้บริโภค ออกมาตรการให้ชัดเจน มีอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

โดยกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร มีข้อกังวลอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1.เมื่อวันที่ 12 พ.ค.65 กสทช.เคยส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ตีความอำนาจของ กสทช.กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 ว่า ไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค.65 กสทช.ได้ทำหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช.อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า กสทช.มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้นายกรัฐมนตรี มีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมาย

2.กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ จึงต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลงได้ เหมือนเช่นในอดีตที่มีการแข่งขันสูง

3.การควบรวมทรู-ดีแทค อาจทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจากร้านค้าตู้ไปยังร้านค้าปลีกในเครือ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดขายส่งและขายปลีก เวนเดอร์ ซัพพลายเออร์ ผู้ให้เช่าสถานที่ และพนักงาน ที่ต้องพึ่งพาบริการโทรคมนาคมในการขายสินค้าหรือบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

Related Posts

Send this to a friend