POLITICS

ไทยสร้างไทย แนะ 3 แนวทาง ลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

ไทยสร้างไทย แนะ 3 แนวทาง ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน หลังค่าไฟงวดใหม่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายนพดล มังกรชัย ประธานฝ่ายวิชาการ พรรคไทยสร้างไทย และอดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบที่ 46,803 เมกะวัตต์ จาก กฟผ. ผลิตเอง 33.16% ที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชนและนำเข้าจากต่างประเทศ รวม 30,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 66.84% จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาครัฐขาดอำนาจถ่วงดุลเรื่องราคาค่าไฟฟ้า

นายนพดล กล่าวว่า หากพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้า จะพบว่า 1 ในเรื่องที่ต้องทบทวนโดยเร่งด่วนคือ ตัวเลขการสำรองไฟฟ้า ที่ปกติแต่ละประเทศจะผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน กำหนดค่าการสำรองไว้ไม่เกิน 15% (ประมาณ 4,500 เมกะวัตต์) แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความต้องการ โดยตั้งแต่ปี 2559 มีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ 7,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันตัวเลขการสำรองสูงขึ้นไปถึง 12,000 เมกะวัตต์ กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่สูงถึง 48,929 ล้านบาท/ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นค่าตอบแทนการลงทุนในรูปของการชำระ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของสัญญาการผลิตไฟฟ้าป้อนรัฐ ซึ่งทำไว้กับภาคเอกชนหลายราย บางรายเป็นบริษัทในกลุ่มในเครือของ กฟผ. เอง โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า แม้ไม่ใช้ไฟก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ตาม) ทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาท/ต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท/ ต่อปี

พรรคไทยสร้างไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดในการกำกับดูแลสาธารณูปโภคของรัฐ จากการมุ่งเน้นการทำกำไรเข้ารัฐ มาเป็นการคิดหาทางออกเพื่อช่วยเหลือประชาชน หาทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เอาใจใส่ในเรื่องปากท้องของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่นใด โดยขอนำเสนอ 3 แนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ดังนี้

1.ขอให้รัฐต้องเร่งเปิดเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย และบางส่วนเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.ให้มีการทบทวนนโยบายการสำรองพลังงาน (กำหนดอัตราส่วนการสำรองมากเกินไปหรือไม่) พร้อมทบทวนข้อสัญญาในเรื่องการประกันความเสี่ยง และเปิดเจรจาเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา เพราะตรงจุดเหล่านี้ คือค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

2.เร่งช่วยเหลือคนตัวเล็ก สำหรับบ้าน หรือร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้ไฟ (ค่าไฟ) ไม่เกิน 1,000 บาท รัฐบาลช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง คือ 500 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก

3.ขอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ จนประเทศขาดภูมิคุ้มกัน และอาจต้องเผชิญหน้ากับการเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องรีบทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงพลังงานทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ โซล่ารูฟท็อป โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากมีไฟฟ้าเหลือแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้กับภาครัฐได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ยังเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม และสามารถนำ Carbon Credit มาขายได้อีกด้วย โดยรัฐต้องให้การส่งเสริมการลงทุน และช่วยเหลือในเรื่องภาระภาษีแก่กิจการเหล่านี้อย่างจริงจัง

Related Posts

Send this to a friend