POLITICS

‘อมรัตน์’ จี้ นายกฯ สังคายนาวิชาประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่

‘อมรัตน์’ ซัดนายกฯ หลงยุค สั่ง ‘ตรีนุช’ เน้นหลักสูตรรักชาติ จี้สังคายนาวิชาประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ พร้อมหลักสูตรนายร้อย จปร. หยุดผูกขาดเรื่องเล่าด้านเดียว ชูหลักประชาธิปไตยสากล

วันนี้ (28 ธ.ค. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ต่อกรณีครูผู้สอนคนหนึ่ง สอนเกี่ยวกับระบอบอำนาจนิยม และมีการพาดพิงถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นางอมรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้ติดใจในประเด็นเพศวิถีของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แต่เป็นห่วงว่าจะมีการกดดันให้ลงโทษครูผู้นั้นจนเกินสมควร ขณะเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับฉายา “นายกแปดเปื้อน” นั้นก็ได้บัญชาให้สอนโดยยัดเยียดความรักและภูมิใจในชาติ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 65 นางตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามให้แยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

“ความรักชาติ ความภูมิใจในชาติ เป็นทัศนคติหลงยุค เป็นทัศนคติของผู้นำในยุคล่าอาณานิยม ดิฉันคิดว่า รัฐมนตรีศึกษาฯ และนายกฯ แปดปี แปดเปื้อน กำลังเข้าใจผิดถึงหัวใจของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์” นางอมรัตน์ กล่าว ก่อนจำแนกความเห็นออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่

1.วิชาประวัติศาสตร์ ต้องสอนให้คิดเป็น ไม่ให้หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยไม่ไตร่ตรองถี่ถ้วนเสียก่อน
2.วิชาประวัติศาสตร์ ต้องสอนโดยชวนให้คิด ไม่ได้ชวนให้เชื่อ แบบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแบบที่ผ่านมา และไม่มีพื้นที่ถกเถียงเห็นต่างสำหรับการศึกษาสมัยใหม่

นางอมรัตน์ ย้ำว่า ยุคปัจจุบันเราต้องการตำราเรียนที่ทันสมัย ตรงไหนตรงมา ไปไกลเกินกว่าคำว่ารักชาติ โดยศึกษาความเป็นมาของชาติ ภูมิใจในสิ่งที่ถูกต้อง ปรับปรุงและไม่ทำซ้ำในสิ่งที่ผิดพลาด ต้องให้เด็กรู้เรื่องมุมมองอื่น ๆ ไม่ใช่ควบคุมพลเมืองด้วยมุมมองเรื่องเล่าเพียงด้านเดียว อย่างประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมอย่างที่ผ่านมา

นางอมรัตน์ ยกตัวอย่างข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ อย่างศิลาจารึกหลักที่ 1 ในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการบางส่วน รวมถึงนายไมเคิล ไรท์ ชาวอังกฤษ ที่โต้แย้งว่า อาจไม่ได้จัดทำขึ้นในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่อาจเพิ่งจัดทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง จนเขาถูกขู่จะเนรเทศและถูกขู่ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“การไม่เปิดกว้าง จะทำให้เราไม่ทราบข้อเท็จจริง แล้วเด็กก็จะไม่รู้อะไรที่เป็นเรื่องจริง แล้วไปรู้อะไรที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต เกิดความย้อนแย้ง จนไม่เชื่อมั่นในหลักสูตรนี้ จึงเสนอแนะให้มีการสังคายนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะหลักสูตรนายร้อย จปร. ด้วยค่ะ โดยปลูกฝังหลักประชาธิปไตยสากล เปลี่ยนการรู้คุณแผ่นดิน เป็นการรู้คุณภาษีอากรของราษฎร” นางอมรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend