POLITICS

คมนาคมแถลงผลงานรอบ 1 ปี เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-บริการด้านคมนาคม เชื่อมโยงเส้นทางสู่ทุกภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการดำเนินงาน “การขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมสู่การปฏิบัติ” ประจำปี 2563 ของกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุม 2 กระทรวงคมนาคม โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการแถลงผลการดำเนินงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยงเส้นทางสู่ทุกภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยมี 8 นโยบายสำคัญ จำนวน 21 เรื่อง ดังนี้

นโยบายที่ 1 นโยบายเร่งด่วน จำนวน 4 เรื่อง

1. เร่งรัดแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2

2. แก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่เกิดจากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร พร้อมตรวจสอบสภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

3. ปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเวลาหลัง 24.00 น. ถึง 04.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร และการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในปัจจุบัน

4. กำหนดอัตราความเร็วรถบนถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน
120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นโยบายที่ 2 การสร้างทางเลือกใหม่ จำนวน 2 เรื่อง

1. ศึกษารูปแบบ เงื่อนไขการอนุญาตบริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน TAXI เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ประชาชน

2. ศึกษาและกำหนดแนวทาง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ (TAXI) เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม และยืดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี

นโยบายที่ 3 การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 2 เรื่อง

1. ศึกษา และจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบด้วยตั๋วร่วม ให้สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. ศึกษา และจัดทำแผนแก้ปัญหาด่านเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น ด้วยเทคโนโลยี
M-Flow เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

นโยบายที่ 4 การลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน จำนวน 3 เรื่อง

1. พัฒนาการบริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถร่วมเป็นรถปรับอากาศ และจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบ E-Ticket พร้อมเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ในอนาคต

2. ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

3. ศึกษาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท ทั้งทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโทลล์เวย์ ด้วยการจำหน่ายคูปองค่าผ่านทางถูกกว่าราคาเต็ม 5 – 10 บาท โดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญากับเอกชน

นโยบายที่ 5 การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 3 เรื่อง

1. พัฒนารถไฟทางคู่ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งด้วยระบบรางเป็น 30% ภายในเวลา 3 ปี เพื่อให้เป็นระบบโลจิสติกส์หลักในการขนส่งสินค้า

2. สนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และลดภาระขององค์กร

3. ศึกษา วิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุด ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นโยบายที่ 6 การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำ จำนวน 2 เรื่อง

1. พัฒนาการขนส่งทางน้ำให้เป็นการเดินทางและการขนส่งทางเลือก ให้สามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งระบบอื่น ทั้งล้อ ราง เรือ ได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งยกระดับท่าเรือโดยสารให้มีความสะดวกปลอดภัย รองรับคนทุกเพศทุกวัย

2. พัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกจากภาคใต้ที่เข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

นโยบายที่ 7 การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ จำนวน 2 เรื่อง

1. เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนต่อปี

2. สนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ให้สามารถบริการประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น พร้อมกำกับดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

นโยบายที่ 8 การจัดทำโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง จำนวน 3 เรื่อง

1. นำหลักการ Thai First คือ “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” มาใช้พิจารณาจัดทำโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และกระจายรายได้อย่างต่อเนื่อง

2. ใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพาราในโครงการด้านคมนาคมเพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

3. ส่งเสริมให้ท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตร หรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด โดยนำร่องใน 3 ท่าอากาศยานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ยังได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้

มิติคมนาคมทางบก

1. เร่งรัดพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 5 เส้นทางเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ได้แก่

1) สายพัทยา – มาบตาพุด
2) สายบางปะอิน – นครราชสีมา
3) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี
4) สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว
5) สายนครปฐม – ชะอำ ช่วงที่ 1 นครปฐม – เพชรบุรี

2. เร่งรัดพัฒนาทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก เพื่อแบ่งเบาปัญหาการจราจร ขยายโครงข่ายทางพิเศษรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เปิดให้บริการถนนเฉลิมบูรพาชลทิศ ระยะที่ 1 สนับสนุนการท่องเที่ยว Thailand Riviera

4. พัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จังหวัดเชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนในพื้นที่โครงการ

มิติคมนาคมทางราง

1. เร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการรวมระยะทาง 170.38 กิโลเมตร พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 6 โครงการ ระยะทาง 156.36 กิโลเมตร เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน ให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564

2. พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร
ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สายทาง คือ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ส่วนที่เหลืออีก 5 สายทางอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2566 – 2567 รวมทั้งเร่งพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และเส้นทางบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม เพื่อให้โครงข่ายรถไฟครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 53 จังหวัด

3. พลิกโฉมรถไฟไทยและสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
2 สายทาง ได้แก่ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” เปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ระยะทาง 220 กิโลเมตร 9 สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 และ “รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา” ผ่าน 5 จังหวัด ระยะทางรวม 252.3 กิโลเมตร 9 สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 และส่วนต่อขยายระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ขณะนี้อยู่ในช่วงออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572

4. เร่งรัดการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางระบบรางยุคใหม่ของไทย และเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2564

มิติคมนาคมทางน้ำ

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับขนส่งทางน้ำของไทย เพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เปิดประตูการค้าจากไทยไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้

2. พัฒนาเรือยนต์ไฟฟ้าและท่าเรืออัจฉริยะ Smart Pier เพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยกระดับท่าเรือให้ทันสมัย สะดวกปลอดภัย ไร้มลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มิติคมนาคมทางอากาศ

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศ โดยเร่งพัฒนาท่าอากาศยาน 5 แห่ง ได้แก่
ท่าอากาศยานแม่สอด บุรีรัมย์ กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช รองรับการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและธุรกิจ

2. เตรียมเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง ในปี 2564 เปิดประตูเศรษฐกิจและการค้าชายแดนใต้ รองรับผู้โดยสาร 869,000 คนต่อปี

3. กำกับดูแลการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ให้มีความปลอดภัยสูงสุด ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวตอนท้ายว่า ต่อจากนี้ไปกระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่งของไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

Related Posts

Send this to a friend