POLITICS

กลุ่มราษฎร-เครือข่าย เตรียมจัดชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภาในวันโหวตเลือกนายกฯ

โหวตเพื่อเปลี่ยน เชื่อรัฐบาลผสมแก้ปัญหาประชาชนดีกว่าพรรคเดียว เสนอบันไดสามขั้นสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ เตรียมชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภาในวันโหวตเลือกนายกฯ

วันนี้ (28 มี.ค. 66) กลุ่มราษฎร นำโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, เบญจา อะปัญ, สมยศ พฤกษาเกษมสุข กัลยกร สุนทรพฤกษ์ และเครือข่าย จัดกิจกรรมนำเสนอแนวคิดและทิศทางในแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” ผ่านกลยุทธ์บันได 3 ขั้น คือ การเลือกตั้งที่โปร่งใสยุติธรรม (Free&Fair), พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะไปด้วยกัน และ การปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ พร้อมประกาศกิจกรรมของทางกลุ่มที่จะมีการเคลื่อนไหวก่อนการเลือกตั้งและการหาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง 100,000 คน

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ระบุว่า พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้อง แลนด์สไลด์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อหยุดอำนาจ สว. โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นมุมมองภาคประชาชนที่เห็นความเป็นไปได้ในการส่ง ส.ส. เข้าไปในสถา มีนโยบายที่ใกล้เคียงกันบ้าง อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นคนที่นำพาความฝันใหัเป็นจริงมากที่สุด เชื่อว่าการเป็นรัฐบาลผสมจะทำให้ความต้องการของประชาชนเป็นจริงได้มากกว่าการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

ภัสราวลี กล่าวว่า การเลือกตั้งนี้แตกต่างจากปี 2562 มีการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้ง เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส. ทำให้ครั้งนี้ การเลือก ส.ส.เขต มีความสำคัญมาก เพราะ ส.ส.ในสภา 500 ที่นั่งจะมีสัดส่วนเป็น ส.ส.เขตกว่า 400 คน หลายพรรคการเมือง จึงเน้นลงพื้นที่หาเสียงมากกว่าการประกาศนโยบาย พร้อมกล่าวย้ำ 3 ข้อเสนอ จากวงเสวนา “เดินหน้า Protect Our Vote” เพื่อชวนประชาชนช่วยจับตาการเลือกตั้ง 2566 ของ iLaw ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เพราะจะมีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด

2.พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดในสภาฯ จะต้องได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

3.ส.ว. ต้องเคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชน

ดังนั้นจึงเชิญชวนประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งในทุกหน่วยเลือกตั้ง ตั้งเป้าที่ 100,000 คน

ด้านเบนจา อะปัญ กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องจับมือเพื่อชนะการเลือกตั้งไปด้วยกันยุตติวงจรการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของเผด็จการโดยประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่มีนโยบายไม่สนับสนุนหรือสืบทอดเผด็จการเข้าไปทำงานในสภา และพรรคการเมืองเหล่านั้นต้องไม่จับมือกับ 3 ทรราช และ 5 พรรคการเมือง สืบทอดอำนาจเผด็จการ คือไม่จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ระบุว่าเป็นผู้ทำรัฐประหาร และไม่จับมือ 5 พรรคการเมืองที่ช่วยเผด็จการสืบทอดอำนาจ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคกล้าหรือชาติพัฒนากล้า

กัลยกร สุนทรพฤกษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างของสังคมที่ประชาชนมีการเรียกร้องมาตลอด เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เช่นการยกเลิก 112 ซึ่งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองตอบรับแก้ไขมาตรา 112 แม้จะยังไปไม่ถึงเพดานของการยกเลิก แต่ถือเป็นสัญญาณดีของก้าวแรกในการก้าวไปข้างหน้า ,การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกับการดำเนินคดีทางการเมือง ,การปฏิรูปกองทัพ ลดขนาดกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร สร้างกลไกป้องกันการเกิดรัฐประหาร ,การปฏิรูปเศรษฐกิจ สร้างรัฐสวัสดิการ ป้องกันการผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐสวัสดิการจะเป็นเบาะรองนั่งที่จะทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ

หลังจากจากนี้กลุ่มราษฎรจะมีการทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยในวันที่ 3 เมษายน เวลา 13:00 น. จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม มีหลักประกันว่า กกต.จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองในการทำลายประชาธิปไตย ,การไปเยี่ยมเยียนเวทีปราศรัยของแต่ละพรรคการเมือง, จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ (Debate) ของพรรคการเมืองย้ำจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย, จับตาการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 และ ไปชุมนุมใหญ่ที่รัฐสภาในวันที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

Related Posts

Send this to a friend