POLITICS

‘สุทิน‘ เตรียมคุย ’มหาดไทย‘ นำผู้ติดยาเสพติดมาสมัครเป็นทหารเกณฑ์

รัฐมนตรี – ผบ.ตร.แถลงหลังเปิดปฏิบัติการแก้ปัญหายาเสพติด ตามแผนเร่งด่วน 1 ปีของรัฐบาล ’ชลน่าน‘ ชี้ สธ. จะเข้าไปยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน เพราะเป็นเกราะกำบังที่ดีที่สุด ด้าน ‘สุทิน‘ เตรียมคุย ’มหาดไทย‘ นำผู้ป่วยติดยาเสพติด มาสมัครเป็นทหารเกณฑ์ และบำบัดในค่ายทหาร จบมามีคุณวุฒิกลับสู่ชุมชน

วันนี้ (26 ธ.ค. 66) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลภายใต้แนวคิด “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปราม สกัดกั้น ยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น”

นายอนุทินเปิดเผยว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข ในทุกครั้งที่มีการดำเนินการไล่ล่าจับกุม และดำเนินคดี แสดงให้เห็นถึงพลัง และทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดกฎหมาย เกิดความยำเกรง และไม่สามารถที่จะทำได้อีกต่อไป รวมถึงการร่วมมือกันก็ส่งผลที่สำคัญถึงทำงานให้เกิดความรวดเร็ว และเป็นไปได้ด้วยดี

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะต้องดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาด ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่าการแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่แค่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งอีกแล้ว แม้แต่หมู่บ้านของคนที่มีรายได้น้อย ก็ยังถูกยาเสพติดเข้าไปรังแก ดังนั้นการแก้แบบเฉียบขาด แต่จะต้องแก้อยู่ภายใต้กฎหมาย เราเชื่อว่าเมื่อทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันแก้ไข จะทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคัดกรองผู้เสพกับผู้ป่วย และที่สำคัญคือการจัดการเครือข่ายผู้ค้า ต้องไม่ให้มีขายในชุมชนทั้งรายใหญ่ และรายย่อย

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จ ทางสำนักงาน ป.ป.ส. นอกจากจะมีการวัดสถิติต่างๆ แล้ว เรายังวัดความเชื่อมั่น และความรู้สึกของประชาชนว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงเราก็ทำงานร่วมกับต่างประเทศในการสกัดกั้นสารตั้งต้นเคมีภัณฑ์

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมถึง KPI หรือตัวชี้วัด ว่า การเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะ 1 ปี ตามนโยบายที่แถลงไว้ ดังนั้นคำว่าการลดปัญหาความรุนแรงคือเป้าหมาย การทำงานร่วมกันของ 5 เสาหลัก คือการบูรณาการระดับประเทศร่วมกัน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ชุมชน ถ้า 5 เสาหลัก และมิติชุมชนเข้มแข็ง ทุกอย่างจะถูกวัดออกมาได้ ทั้งปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และจำนวนผู้เสพยาเสพติดรายใหม่ ซึ่งหากทุกฝ่ายปิดกั้นยาเสพติดของชุมชนตัวเอง และขึ้นแดชบอร์ดทุกสัปดาห์ให้นายกฯ ตามดู ตนเองเชื่อว่าไม่มียาเสพติดอย่างแน่นอน

ส่วนหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่เก็บของกลางและเผาทำลาย แต่เมื่อทำงานร่วมกับ 5 เสาหลัก เรามีหน้าที่ที่จะไปป้องกันด้วย คือ การเตรียมชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้พวกเขาได้เฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขก็เข้าไปคัดกรองได้ทันที โดยให้พวกเขาบำบัด และให้อยู่ในชุมชนนั้น เพื่อให้ชุมชนเป็นฐาน สิ่งแนวทางเราวางไว้หมด เพื่อวางฐานในชุมชนให้เข้มแข็ง และกระบวนการที่ทำอยู่ในชุมชนจะเป็นเกาะกำบังที่ดีที่สุด

สำหรับระยะเวลาในการเผาทำลายยาเสพติดของกลาง จำนวน 340 ตันนั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่าความสามารถของอัคคีปราการ ตอนนี้เราส่งไปเผาทั้งหมด 110 ตัน ใช้เวลาเผาเกือบ 1 สัปดาห์ ซึ่งตนคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์จะสามารถเผาได้ทั้งหมด 340 ตัน หลังจากนั้นก็จะเป็นของกลางยาเสพติดรายใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ก็จะเก็บของกลางไว้ให้ และเผาทำลายทุก 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่มี

ส่วนนายสุทินกล่าวถึงการสกัดกั้นตามแนวชายแดน โดยชายแดนมี 5 พันกิโลเมตร เรามีกองกำลังทหารที่ดูแลชายแดนตลอดแนว และเฝ้าลาดตระเวนอยู่ตลอด เราก็เพิ่มภารกิจขึ้นมาคือการสอดส่องดูแล ขบวนการยาเสพติด ซึ่งตนได้ไปประชุมกับประเทศลาว เรื่องของการลาดตระเวน ว่าหลังจากนี้ จากเดิมที่ลาดตระเวนของใครของมัน ก็เปลี่ยนเป็นขึ้นเรือลำเดียวกัน ในการลาดตระเวนไปได้ทุกที่ตามชายแดน หากเจอใคร สัญชาติใด ก็สามารถดำเนินการจับกลุ่มได้ทันที

นอกจากนี้ ในช่วงกลางน้ำ เรามีกองกำลังทหารจะร่วมกับท้องถิ่น และตำรวจ ในการเข้าตรวจค้นแหล่งยาเสพติด และช่วงปลายน้ำ เรามีค่ายบำบัดในค่ายทหาร และโรงพยาบาลทหารที่สามารถช่วยสาธารณสุขได้ถึง 30 โรงพยาบาล รวมถึงการพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดในชุมชน มาสมัครเป็นทหารเกณฑ์ โดยใน 3 เดือนแรกจะเข้าสู่การบำบัดเลิกยา และนำเข้าสู่กระบวนการฝึก และมีการเติมการศึกษาให้เด็ก โดยมีสถาบันคุณวุฒิ วิชาชีพมาตีราคาสกิลให้ได้คุณวุฒิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลิกยา ได้รับการศึกษา ได้คุณวุฒิ เข้ากระบวนการได้อาชีพ เมื่อศึกษาจบทหารเกณฑ์ สามารถเรียนต่อนายสิบได้เลย เพราะกองทัพบกให้โควต้าถึง 80 เปอร์เซ็น

รวมถึงยังมีอาชีพเอกชน ที่พร้อมรองรับ เมื่อเด็กเลิกยา ได้รับการศึกษา และคุณวุฒิ สามารถรับราชการได้ หากไม่รับราชการ ไปอยู่ที่เอกชนก็จะได้วิชาชีพกลับไปที่ชุมชน ซึ่งเชื่อว่าเด็กจะเลิกยาได้อย่างสมบูรณ์ เราได้ให้ความรู้ และให้อาชีพด้วย เด็กก็จะไม่กลับไปสู่ยาเสพติด

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ระบุว่า ปัญหายาเสพติดไม่ใช่เฉพาะหน่วยตำรวจ เราถึงบูรณาการ 5 เสาหลัก ในการปฎิบัติการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศ ปัญหาหลักอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์ภายในประเทศ ในการนำยาเสพติดออกมาจำหน่ายเพื่อที่จะได้งบประมาณ จนเกิดการทะลักของยาเสพติด แต่ด้วยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เป็นเนื้อเดียวกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด และทำให้เราสามารถซีลชายแดนได้ดี และใช้มาตรการที่เด็ดขาด

ส่วนการจะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดนั้น ตนมองว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว ที่จะทำให้ปัญหายาเสพติดในชุมชนนั้นน้อยลง เมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว ส่งกลับไปยังชุมชน แต่ชุมชนมีกำแพงกั้นพวกเขา เราจะทำลายกำแพงตรงนี้ได้ยังไง คือสิ่งที่เราจะต้องลงไปดู และไม่ให้เกิดการวนลูปแบบนี้อีก

Related Posts

Send this to a friend