POLITICS

’เศรษฐา‘ นำทัพ ผนึกกำลัง 5 เสาหลัก มอบนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด ตามแผ่นเร่งด่วน 1 ปีของรัฐบาล

ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ปลุกชุมชนเข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สกัดกั้นปราบปรามผู้มีอิทธิพล และยึดทรัพย์ คืนลูกหลานสู่ครอบครัว

วันนี้ (26 ธ.ค. 66) เวลา 13:00 น. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปราม สกัดกั้น ยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมรับนโยบายรวมกว่า 500 คน และพลเรือน ตำรวจ ทหาร รับชมผ่านระบบ Zoom 2,524 ช่องภาพ รวมกว่า 25,000 คน

นายเศรษฐา ขึ้นกล่าวเปิดงานว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานในการปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ก็ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ยังมีความรุนแรง ประชาชนยังคงมีข้อกังวลในจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากความห่วงใยลูกหลานของพวกเขา ตนได้รับข้อร้องเรียนโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในช่วงเวลาที่ลงพื้นที่หลายๆ จังหวัด

ประสบการณ์ที่ตนได้พบเห็นแววตาของพ่อแม่ที่มีลูกหลานติดยาเสพติด และได้ฟังร้อนใจของพวกเขา มันเป็นประสบการณ์ที่น่าเศร้าใจ และทำให้ตนอยากส่งต่อคำอ้อนวอนของพี่น้องประชาชนมาถึงพวกท่านทุกคน ซึ่งขอให้เอาจริงเอาจัง ช่วยเหลือลูกหลานของพวกเขา ของพวกเรา ของพวกท่าน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้

การจัดการยาเสพติด ต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้ามาในหลายจังหวัด จากชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเคลื่อนย้ายมาตอนตะวันตก จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดระนอง รวมทั้งจะต้องมีการจัดการที่จุดระบาด ซึ่งมีหลายจังหวัดที่มีความน่าเป็นห่วง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดในชายแดนใต้

อีกทั้ง จังหวัดในตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังประสบปัญหาสงครามกลางเมืองภายในประเทศ การผลิตยาเสพติดเพื่อนำมาซึ่งเงินทอง ที่จะมาทำกิจกรรมทางการเมืองก็จะยิ่งแพร่ขยายไปอย่างมาก ทำให้มีการทะลักเข้ามาของยาเสพติดตามตะเข็บชายแดนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านจิตเวชจากการเสพยาทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 จังหวัดที่ถือว่าเป็นสถานการณ์ความรุนแรงทางด้านจิตเวชจากปัญหายาเสพติด รัฐบาลจึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเด็ดขาด โดยให้เร่งลดความรุนแรงจากภัยยาเสพติดอย่างจริงจัง ตามแผนปฏิบัติการ ทั้งเรื่องของการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุม และการยึดทรัพย์ผู้ค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัด ลดความรุนแรงจิตเวชจากปัญหายาเสพติด โดยเน้นหนัก 30 จังหวัดเป็นเป้าหมายแรก

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า การปฏิบัติการยังมีการเผาทำลายยาเสพติดของกลาง มากที่สุดเป็นประวัติการถึง 340 ตัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนทั้งประเทศ ว่าลูกหลานของพวกเราทุกคนจะไม่ถูกยาเสพติดกัดกันอีกต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย 10 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางการลดปัญหายาเสพติด คือ

1.ลดความรุนแรง และความเดือดร้อนของประชาชน จากปัญหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากการเสพยาเสพติด

2.ลดจำนวนผู้เสพยาเสพติด ด้วยการบำบัดรักษาและต่อยอดการแก้ไขปัญหาผู้ผ่านการบำบัดอย่างครบวงจร

3.การดำเนินนโยบายร่วมมือกับต่างประเทศเชิงรุก และเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนให้ครอบคลุม

4.การยกระดับการปราบปรามทำลายโครงสร้างเครือข่ายกลุ่มการค้ายาเสพติดระดับต่างๆ ด้วยการตัดวงจรทางการเงิน และการริบทรัพย์สิน

5.การป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพยาเสพติดรายใหม่

6.การปลุกประชาชนให้ตื่นตัว และเข้าร่วมการแก้ไขปัญหายาเสพติด

7.การสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดใหม่ ๆ

8.การกำหนดเป้าหมาย และ KPI ลดปัญหายาเสพติดภายใน 4 ปี ตามนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล

9.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในครั้งนี้ โดยขอความร่วมมือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการคัดกรอง การบำบัด การฟื้นฟู และการสนับสนุนอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัด

10.การบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพในทุกระดับ โดยในระดับส่วนกลาง ให้กระทรวงต่างๆ อาทิกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอีกหลายๆ หน่วยงาน ต้องผนึกกำลังร่วมกัน ร่วมกันประสานงานให้เป็นเอกภาพผ่านกลไกการขับเคลื่อนของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่มีผู้แทนต่างๆ อำนวยการ และขับเคลื่อนอยู่แล้ว

โดยจัดตั้งกลไกอำนวยการอำนวยการ และขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับจังหวัด ให้มี 5 ภาคีร่วม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายแพทย์สาธารสุขจังหวัด, ฝ่ายทหาร กอ.รมน. จังหวัด และนายกองค์บริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกชุดเล็กในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และบูรณาการร่วมกันในระดับอำเภอในรูปแบบเดียวกับระดับจังหวัด และให้กลไกในทุกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย และ KPI ในปีแรกให้ได้

ในช่วงท้าย นายเศรษฐา กล่าวว่า ท้ายที่สุดนี้ จากความเอาจริงเอาจังของรัฐบาล และทุกภาคส่วน จะมีส่วนส่งผลทำให้ปัญหายาเสพติดลดความรุนแรงลงตามเป้าหมาย ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย คืนลูกหลานให้สู่ครอบครัว ทำให้ผู้เสพกลายเป็นผู้ป่วย ทำให้ชุมชนปลอดจากปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นเจตนารมย์สูงสุดของรัฐบาล ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

Related Posts

Send this to a friend