POLITICS

ผศ.ปริญญา เชื่อ 2 ป.จะยอมถอยคนหนึ่งหลังเลือกตั้ง

“กัน ส.ว.เสียงแตก” ในการเลือกนายกฯ มอง พล.อ.ประวิตร มีจุดแข็งคือรวมเพื่อไทยได้ ชวนสังเกตถ้าแตกหักกันจริงต้องส่งผู้สมัครตัดคะแนนกันเอง

วันนี้ (12 ม.ค. 66) The Reporters สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและอนาคต หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ดันเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่ยืนยันจะปั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ว่าถือเป็นจุดอวสานของ 3 ป. หรือไม่ พร้อมวิเคราะห์ทิศทางการเมืองหลังจากนี้ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปีนี้

อ.ปริญญา กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้วางกลไกสืบทอดอำนาจไว้ผ่าน สว. ที่เขา เป็นคนเลือกเอาไว้และมีอำนาจในการเลือกนายก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งการเลือกตั้งในปี 2562 ได้เก้าอี้ ส.ส. เพียง 116 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน แต่เป็นนายกฯ ได้ เพราะมีเสียงของ ส.ว. อีก 250 เสียง เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงก็ยังคงกติกานี้อยู่ เพราะส.ว. ชุดนี้มีวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ส.ว.ชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 หลังมี ส.ส. ได้ประมาณ 3 เดือน จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 แปลว่า หลังเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2566 นี้ ก็จะยังมี ส.ว.ชุดนี้มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ ดังนั้นโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร อยู่ที่ ส.ว. ต้องเสียงไม่แตก

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ลงแข่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกันเอง ทำให้ตอนนี้เกิดการแย่ง ส.ส.เก่า ใครจะอยู่พลังประชารัฐกับ พล.อ.ประวิตร หรือใครจะมากับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็แย่งกันอยู่ ในระยะที่สองจะเป็นการแย่งเสียงจากประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง และระยะที่สามคือช่วงหลังเลือกตั้ง เชื่อว่าทั้งสองคนจะผ่านด่านส.ส.ขั้นต่ำในการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ คือมีส.ส.ขั้นต่ำ 25 คน ตอนนั้นจะมาถึงการแย่งเสียง ส.ว.กัน

“…จากแย่ง ส.ส. ในตอนนี้ แย่งเสียงประชาชนในตอนเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้งก็จะมาแย่งเสียง ส.ว. กันอีก ทำให้โอกาสในการเป็นนายกฯ ต่อ ลำบากแล้ว เพราะที่ผ่านมาสามารถเป็นนายกฯได้เพราะเสียงของ ส.ว. เป็นเอกฉันท์ พอแตกเป็นพล.อ.ประยุทธ์/พล.อ.ประวิตรแล้วเสียงมันแตก ผมเองเชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้น “เขาน่าจะยอมถอยคนนึง” เผลอๆ 2 ป. อาจคุยกันแล้ว ว่าถ้าใครได้ ส.ส. น้อยกว่าจะยอมถอย เพราะเขารู้ว่าถ้าแข่งกันคือแพ้แน่…” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ทั้งนี้ อ.ปริญญา ยังให้ความเห็นกับคำถามว่า จะถึง “จุดอวสาน 3 ป.” หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และแม้พวกเขาไม่แตกหักกัน หากได้เสียง ส.ว. เป็นเอกฉันท์อีก 250 เสียง ก็ต้องการอีกเพียง 126 เสียงจาก ส.ส. ก็เป็นนายกฯได้ เพื่อให้ผ่านกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 376 เสียงในการเลือกนายกฯ ซึ่งถ้าคาดการณ์แล้ว 126 เสียงอาจไม่ใช่เรื่องยากเพราะยังมีอีกหลายพรรคที่พร้อมร่วมรัฐบาลเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังจำเป็นต้องรวมเสียง ส.ส. ให้ได้อย่างต่ำครึ่งสภา หรือ 250 เสียง เพื่อผ่านกฎหมายสำคัญและการลงมติไม่ไว้วางใจด้วย “อาจเป็นนายกฯได้ แต่อยู่ไม่ได้ครับ ถ้ามี ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง” ดังนั้นจึงอยู่ที่เสียงของประชาชน ว่าประชาชนจะเลือกอย่างไร

อ.ปริญญา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนคนละอย่าง หากดูจากโพลสำนักต่างๆ จะเห็นว่าคะแนนนิยมของพล.อ.ประวิตร น้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แต่ว่า พล.อ.ประวิตร มีจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มี นั่นคือ “พล.อ.ประวิตร สามารถรวมกับเพื่อไทยได้” บนเงื่อนไขของเพื่อไทยว่าต้องไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์

“…ถามว่าทำไมเพื่อไทยถึงอยากรวมกับ พล.อ.ประวิตร เพราะต่อให้เพื่อไทยแลนสไลด์ หรือเพื่อไทยสามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งก็ตาม แต่การเป็นนายกฯ ได้ต้องมี 376 เสียงจากรัฐสภา (เกินกึ่งหนึ่งของ 750 เสียง ส.ส.+ส.ว.) ถ้าไม่ถึงขึ้นมาก็ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. แล้วใครหล่ะครับที่มีเสียง ส.ว. ก็ พล.อ.ประวิตร ไง…” อ.ปริญญา กล่าว

อ.ปริญญา มองว่า ทั้งคู่มีจุดแข็งจุดอ่อนคนละอย่างในการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า สองคนนี้ เมื่อถึงเวลาหลังเลือกตั้งจะมีคนถอย เพราะถ้าไม่ถอยจะแพ้ทั้งคู่ ดังนั้นจุดชี้ขาดคือผลการเลือกตั้ง ที่จะบอกฉันทามติของประชาชน รัฐบาลควรมาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. อย่าเป็นนายกฯด้วยเสียงของ ส.ว. ทำการเลือกตั้งให้โปร่งใสไม่มีปัญหามากเหมือนครั้งที่ผ่านมา ให้เป็นการเลือกตั้งของประชาชน

สำหรับข้อสงสัยที่มองการแยกพรรคของ 2 ป. ว่าเกิดจากการแตกคอกันหรือไม่นั้น อ.ปริญญา มองว่าการจะดูว่าแตกคอกันจริงหรือไม่ ให้ดูตอนทั้งสองพรรค ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัครมาแข่งกันในเขตเดียวกันหรือไม่ เพราะโอกาสเดียวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร คือไม่ตัดคะแนนกันเอง แล้วหวังว่า เพื่อไทยกับก้าวไกลจะตัดกันเองมากๆ แล้วเขาจะเข้ามาได้

“…แม้ว่าคนในเขตเลือกตั้งหนึ่ง จะไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าคนที่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อคนไม่เอาตัดคะแนนกันเอง ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เข้ามาได้ หมายความว่า หากรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐไม่ตัดคะแนนกันเอง ยังพอมีโอกาส แต่หากเขาตัดคะแนนกันเองเมื่อไร หมายความว่า เขาแตกหักกันโดยแท้จริง…”

โดยอ.ปริญญา ยกตัวอย่างผลการเลือกตั้งเขตหลักสี่ กทม. เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ผู้ที่ชนะคือนายสิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 35,000 คะแนน แต่คะแนนของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ประมาณ 32,000 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ประมาณ 20,000 คะแนน รวมแล้วพรรคฝั่งไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนกว่า 50,000 คะแนน ดังนั้นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์คือตรงนี้ คือฝั่งไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ตัดคะแนนกันเอง

ทั้งนี้ อ.ปริญญา ยังทิ้งท้ายว่า โอกาสในการกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ ไม่ง่ายแล้ว ทั้งเงื่อนไขการมี ส.ส. ถึงครึ่งสภา ต่อให้รวมจากทุกพรรคที่เหลือทั้งหมด ทั้งที่ไม่ได้ประกาศไม่เอา และพรรคกลางๆไม่เลือกข้าง โอกาสจะได้ ส.ส. ถึงจำนวน 250 คนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้ไม่ใช่ขาขึ้นของพลังประชารัฐ และไม่ใช่ขาขึ้นของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกต่อไปแล้ว รวมถึงกระแสของประชาชนเมื่อ 8 ปีก่อนที่อาจเคยสร้างความชอบธรรมให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนข้างมาทางฝั่งการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้ว จึงไม่ง่าย แต่สุดท้ายทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน

ชมไลฟ์สัมภาษณ์ที่ : https://fb.watch/h-JzsaiaDn/?mibextid=v7YzmG

รายงาน: ทศ ลิ้มสดใส

Related Posts

Send this to a friend