POLITICS

ส่อแววเลื่อน เก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 หลังสภาฯ กทม.ปัดตกญัตติ

ส่อแววเลื่อน เก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 หลังสภาฯ กทม.ปัดตกญัตติ เสนอตั้ง คกก.วิสามัญศึกษาให้ละเอียด “ชัชชาติ” ตอบมีสิทธิคืนสายสีเขียวให้รัฐบาลดูแล แต่ต้องยึด ปชช.เป็นที่ตัง

วันนี้ (26 ต.ค.65) ภายหลังที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ประจำปี 2565 มีมติถอนญัตติขอรับความเห็นแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสภา กทม.ยังไม่พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีญัตติถอนข้อพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน เข้าใจว่ายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ ส.ก.หลายท่านเห็นว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กทม.” แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์ค่าโดยสาร และเจรจากับผู้รับสัมปทาน ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 โดยที่ประชุม ยังได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญการจราจรและขนส่ง พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้วย

ทั้งนี้ตนเองได้ชี้แจงกับสภา กทม.ว่าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้เป็นคนเริ่มเรื่อง แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำมาพูดคุยกัน ทั้งนี้การที่นำเรื่องการพิจารณารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าญัตติในที่ประชุม ไม่ได้ต้องการมติอะไร แต่เป็นการรับฟังความเห็น

เรื่องการเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะวันนี้ก็ยังไม่ได้รับความเห็นจากที่ประชุมสภา กทม. อย่างไรต้องหารือถึงข้อสรุป เพื่อที่จะวางแผนให้รัดกุมและรอบคอบมากที่สุด ยืนยันว่า ไม่ได้ขออนุมัติราคาค่าโดยสาร 15 บาท แต่เพียงจะแจ้งให้ที่ประชุมสภาฯ กทม.ทราบว่า ค่าโดยสารอัตรานี้มีส่วนต่าง

“ยอมรับว่า สายสีเขียวมีข้อมูลและรายละเอียดจำนวนมาก ขนาดผมดูเรื่องนี้มาตลอด ยังมีจุดที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงต้องให้เวลาคณะกรรมการสามัญไปพิจารณาก่อน”

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรณีกระทรวงมหาดไทยขอความเห็นฝ่ายบริหารเรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ฝ่ายบริหารมีความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวที่จะสิ้นสุดในป่ 2572 ต้องทำผ่าน พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การคำนวณค่าโดยสารละเอียดขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบ ลดภาระของ กทม.ด้วย

หากสภา กทม.มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษา หรือคณะกรรมการวิสามัญก็รู้สึกยินดี ที่จะมีการหารือร่วมกัน เพราะสุดท้ายเรื่องสายสีเขียว คงหนีไม่พ้นที่จะต้องกลับมาที่สภา กทม. อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ กทม. แต่จะอยู่ที่กฎหมายมาตรา 44 ซึ่งในคณะกรรมการศึกษาฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมา มีปลัดกรุงเทพมหานครเพียงคนเดียวเป็นคณะกรรมการ อำนาจทั้งหมดอยู่ในคณะรัฐมนตรี ความเห็นของ กทม.ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เพราะไม่ใช่หน่วยงานหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ที่นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า หากรัฐไม่อุดหนุนหนี้โครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น กทม.จะคืนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาล นายชัชชาติ ระบุว่า มีสิทธิเป็นไปได้ กทม.ไม่ได้มีการปิดกั้น หลักคือต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาแนวคิดในอุดมคติที่เคยคิดไว้คือ “ทุกเครือข่ายมีเจ้าของคนเดียว” แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์

กทม. ยินดีจะจ่ายหนี้ที่เป็นธรรมทุกบาททุกสตางค์ ไม่มีเบี้ยวเพราะเป็นเรื่องของความไว้วางใจระหว่าง กทม.กับภาคเอกชน แต่ทั้งนี้หนี้ก็จะต้องมีที่มาที่ไปว่า ทำถูกระเบียบมีขั้นตอนการอนุมัติหรือไม่ เพราะเงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินส่วนตัวของ กทม.

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ปีนี้จะยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวใช่หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า คนที่กังวลน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะกำลังจ่ายเงินและไม่ได้นั่ง ไม่แน่ใจว่า ปีนี้จะมีการเรียกเก็บค่าโดยสารหรือไม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 คิดเป็น 5,600 ล้านบาทต่อปี การเก็บอัตราค่าโดยสาร 15 บาท จึงยังมีส่วนต่างที่ต้องของบประมาณจากสภา กทม.ชดเชยหนี้ด้วย

Related Posts

Send this to a friend