POLITICS

‘วราวุธ’ เผยที่ประชุมพรรคเคาะชื่อ ‘นิกร’ ร่วมคณะแก้รัฐธรรมนูญ

‘วราวุธ’ เผยที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา เคาะชื่อ ‘นิกร’ ร่วมคณะแก้รัฐธรรมนูญ ลุยตั้ง ส.ส.ร.แก้ทั้งฉบับ แต่ไม่แตะหมวด 1, 2 หวังรัฐธรรมนูญใหม่ คลายล็อคอำนาจ 3 ฝ่าย

วันนี้ (26 ก.ย. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุม สส.พรรคชาติไทยพัฒนา ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคจะเสนอชื่อ นายนิกร จำนง เข้าร่วมกับคณะทำงานของรัฐบาล เนื่องจากนายนิกรมีประสบการณ์ร่วมคณะ ส.ส.ร.มาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 และที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยขณะนั้นดำเนินการทุกขั้นตอน และมีรายละเอียดแนวทางการทำงานรวมถึงที่มาของ ส.ส.ร.อยู่ในหนังสือ “ชุมพล ฅน ประชาธิปไตย” ซึ่งนายนิกรจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานร่วมของรัฐบาลต่อไป

นายวราวุธ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคชาติไทยนำเสนอไป วันนี้จะเสนอเช่นกัน คือการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ยังยืนยันและเป็นแนวทางของรัฐบาลว่า ไม่แตะหมวด 1 กับ หมวด 2

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จต้องร่วมมือหลายฝ่าย และต้องมีการพูดคุยกัน เพราะสมาชิกวุฒิสภาจะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรก็จะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นต้องพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเดินหน้าได้ ทั้งนี้ การตั้ง ส.ส.ร.จะสะท้อนความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ และกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางเดียวกับที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540

นายวราวุธยังระบุถึงจำนวนของการทำประชามติ และที่มาของ ส.ส.ร.ว่า จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการทำประชามติว่าแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ส่วนจะผนวกคำถามอะไรเพิ่มเติมเข้าไป เป็นวิจารณญาณของคณะกรรมการร่วมรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแล เช่น หากมีประชามติว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องแก้มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้ เมื่อแก้มาตรา 256 แล้ว การตั้ง ส.ส.ร.ก็ต้องทำประชามติอีก และก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น 3 ครั้ง

สำหรับประเด็นความคาดหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในครั้งนี้ นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ น่าจะมีความสมดุล และมีความลงตัวให้มากขึ้น บางครั้งการปลดล็อคหรือมีข้อจำกัดมากไป จะทำให้การทำงานของหลายฝ่ายไม่ลื่นไหล และการดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้อย่างล่าช้า จึงเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการตั้ง ส.ส.ร. จะตอบโจทย์ที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว มีอะไรเหมือนกันแค่เพียงบางมิติ แต่ที่ผ่านมาบริบทโลกและสังคมไทยได้เปลี่ยนไป จะให้เหมือนกันเป๊ะคงเป็นไปไม่ได้ เช่น การตั้ง ส.ส.ร. ต้องมีการปรับเปลี่ยนบริบทให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน และประชากร 66 ล้านคนของประเทศไทย ไม่ใช่จะเอาของ 20 ปีที่แล้วมาทำในวันนี้

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ กล่าวว่า สัดส่วนกรรมาธิการฯ ของพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะนี้เรียบร้อยดีไม่มีปัญหา โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการแต่งตั้งและเริ่มประชุมในวันที่ 28 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ส่วนกระทู้ถามทั่วไป ที่อาจจะถามถึงความรับผิดชอบภายในกระทรวง พม. ทราบว่า มี 2 เรื่อง ซึ่งตนก็เตรียมตัว และเมื่อได้รายละเอียดแล้วจะมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบให้มาหารือรายละเอียด เพื่อเตรียมตอบกระทู้ต่อสภาด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีคณะที่ปรึกษา ติดตาม และเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรี พม. ที่จะคอยสนับสนุนให้ข้อมูล

Related Posts

Send this to a friend