POLITICS

ผศ.ดร.ปริญญา จับตาศาลรัฐธรรมนูญสั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน 24 ส.ค. นี้หรือไม่

เคลียร์ปมวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี มองกระแสปรับ ครม. หลังญัตติซักฟอก ขึ้นอยู่กับแรงกระเพื่อมในพรรคร่วม และแผนปรับตัวสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์การเมืองกับ The Reporters ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร มีมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 65 ตามที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเสนอ

แม้ว่ารัฐมนตรีทั้ง 11 คนตามญัตติจะได้รับคะแนนไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตามกลไกมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญฯ แต่ ผศ.ดร.ปริญญา เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คะแนนไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคนต่างกัน มี 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเศรษฐกิจไทย ส.ส. งูเห่า และ ส.ส. กลุ่ม 16 จากพรรคการเมืองขนาดเล็ก

  1. ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย หรือกลุ่มของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย มีแนวทางการลงมติที่แตกต่างกันในรัฐมนตรีแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ยืนยันลงมติไว้วางใจ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่ขณะเดียวกันกลับลงมติไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนทำให้คะแนนไว้วางใจของนายกรัฐมนตรี มีต่ำกว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลอยู่หลายคน
  2. ส.ส. แปรพักตร์หรือ “งูเห่า” จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งในพรรคเพื่อไทย 7 คน และพรรคก้าวไกล 5 คน รวมเป็น 12 คน ที่มีแนวโน้มสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย ก็ร่วมลงมติไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับเช่นกัน
  3. ส.ส. กลุ่ม 16 ที่เคยประกาศในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จะลงมติไม่ไว้วางใจ 2 รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อประกาศออกมาจนเป็นกระแสข่าว นายกรัฐมนตรีก็เรียกกลุ่ม 16 เข้าเจรจาก่อนการลงมติจนได้

ทำให้ผลคะแนนไว้วางใจที่น้อยที่สุดจึงผิดคาด ตกอยู่กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสียเอง นั่นคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“การที่คะแนนไว้วางใจต่ำสุด เป็นเพราะการงดออกเสียงถึง 23 เสียง ที่สะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแรงกระเพื่อมแน่นอน รวมถึงจากพรรคอื่นด้วย (ชาติไทยพัฒนา 3 เสียง และพรรคเล็ก 2 เสียง) แปลว่ามันมีปัญหาแล้วสำหรับประชาธิปัตย์ ต่อให้คุณชวนอุ้ม แต่การอยู่ร่วมกันกับพรรคอื่นคงมีปัญหาใจ อาการไม่ดีแล้ว” ผศ.ดร.ปริญญา วิเคราะห์ถึงผลการลงมติไว้วางใจหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐมนตรี

ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตว่า หากจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะไม่ใช่ผลโดยตรงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เป็นการปูทาง ปรับตัว และวางแผนของรัฐบาล ไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าเสียมากกว่า ซึ่งมองว่าเมื่อนายจุรินทร์ได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยสุด ประกอบกับนายจุติและนายนิพนธ์มีเนื้อหาอภิปรายจากฝ่ายค้านในหลายประเด็น จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าสาหัสสุดสำหรับการถูกพิจารณาในมิติการปรับคณะรัฐมนตรี

ในทางกลับกัน รัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด อย่าง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก็มีท่าทีที่น่าสนใจตั้งแต่การตอบชี้แจงว่าไม่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร ประกอบกับผลคะแนนที่ออกมาทำให้ ผศ.ดร.ปริญญา คาดการณ์ว่า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนนี้มีแนวโน้มจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพิ่ม ถึงขั้นอาจเป็นเจ้ากระทรวงใหญ่ได้ มิหนำซ้ำยังประกอบกับกระแสเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่สั่นคลอนจาก ส.ส. จังหวัดสมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ จนอาจเกิดการปรับ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกจากตำแหน่ง มท.1 ได้ หรืออาจไปดูกระทรวงอื่น

“แรงกระเพื่อมภายในพรรคจะเป็นตัวชี้วัดการปรับ ครม. ต่อไป และเป็นการปรับกระบวนท่าก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการปรับ ครม. หรือไม่ แต่หนึ่งประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางในญัตติที่ผ่านมา คือ วาระการดำรงตำแหน่งของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ประกอบมาตรา 158 วรรค 4 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในระยะเวลารวมกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ หรือคือวันที่ 24 ส.ค. 65 ที่จะถึงนี้ แต่พลเอก ประยุทธ์ ประกาศจะอยู่อีก 250 วันที่เหลือ หรือวันที่ 24 มี.ค. 66 แทน

ผศ.ดร.ปริญญา วิเคราะห์เจาะลึกถึงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งว่า คาดว่าจะมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่นอน ก่อนจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 65 โดยที่ศาลอาจรับคำร้องและเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ตามคำร้องจึงสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 อย่างกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ขณะที่จะเกิดประเด็นว่าหากไม่สั่งหยุดแล้วผลจากการบริหารราชการแผ่นดินของพลเอก ประยุทธ์ ในตำแหน่ง หลังวันที่ 24 ส.ค. 65 จะเกิดปัญหาหรือความเสียหายตามมาได้

“ผมเลยมองว่าโอกาสที่ศาลจะวินิจฉัยเรื่องนี้ก่อน 24 ส.ค. มีอยู่สูงมาก และจะเกิดขึ้นในเวลานี้ ศาลจึงต้องรีบจัดการก่อนครบ 8 ปี จึงจะไม่มีปัญหา ด่านใหญ่คือด่านนี้”

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจับตาด้วยว่าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะยื่นคำร้องหลังวันดังกล่าวเพื่ออาศัยจังหวะเวลาบีบแนวทางวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้สั่ง พลเอก ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และสร้างความปั่นป่วนใน 3 ป. หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พลเอก ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าจะต้องมีรัฐบาลรักษาการ ที่ พลเอก ประวิตร อาจเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

ผศ.ดร.ปริญญา ยังวิเคราะห์ต่อไปถึงแนวทางวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นศาลการเมืองสูง ผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับองค์คณะตุลาการ 5 ใน 9 เสียง ว่าจะนับวาระตั้งแต่ 24 ส.ค. 57 หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 158 ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ อาจแถลงลาออกเองได้อย่างสง่างามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งสามารถเทียบกับกรณีการลาออกของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี

ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าเกมการเมืองที่รออยู่ด้านหน้าสำหรับทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลจะต้องจัดการต่อเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 แบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) และปรับคณะรัฐมนตรีหลังญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ทางด้านฝ่ายค้านเองก็เดินเรื่องต่อในการยื่นขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนความผิดของรัฐมนตรีตามหลักฐานจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตลอดจนการร้องขอวินิจฉัยเรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ชมย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/3339220223064430/

Related Posts

Send this to a friend