‘พิธา’ กางแผนพรรคก้าวไกลปี 67 ผลักดันกฎหมาย
เพื่อ 6 เป้าหมายเปลี่ยนประเทศ ประเมิน KPI ประธาน กมธ. จ่ออภิปรายรัฐบาลหลังเมษายน เชื่อเป็นฝ่ายค้านที่ผลักดันวาระ-ตรวจสอบรัฐบาล-เสนอความเห็น
วันนี้ (26 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแผนการทำงานพรรคก้าวไกล ปี 2567 หรือ MFP’s Strategic Roadmap พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม
นายพิธา ระบุว่า มี Big Bangs หรือ เป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ได้แก่ การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ผ่านการปฏิรูปทหาร การแก้รัฐธรรมนูญ, การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการยกระดับสวัสดิการ และขนส่งสาธารณะ, การหยุดแข่แข็งชนบทไทย ผ่านการสนับสนุนทางการเกษตร, การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ผ่านการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ, การเรียนรู้ทันโลก ผ่านการตัดอำนาจนิยมในสถานศึกษา เสริมสร้างทักษะผู้เรียน และการเติบโตแบบมีคุณภาพ ผ่านการสร้างงาน และสนับสนุน SMEs โดยวิธีการดำเนินการสู่เป้าหมายนั้น นายพิธา ชี้แจงว่า จะดำเนินการผ่านการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และเสนอร่างกฎหมายเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 ฉบับ สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอกับการดำเนินงาน และกำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงพิจารณาความพร้อมของบุคลากร เพื่อให้เป้าหมายสัมฤทธิผล
นายพิธา ยังกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคว่า ขณะนี้ มีร่างกฎหมายของพรรคฯ ที่สภากำลังพิจารณา ทั้งการสมรสเท่าเทียม การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คณะรัฐมนตรีขอนำไปพิจารณา 60 วัน ส่วนร่างกฎหมายที่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว และรอการพิารณาจำนวน 17 ฉบับ อาทิ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, กฎหมายโคนม และผลิตภัณฑ์นม, กฎหมายรับรองเพศ และคำนำหน้านามบุคคล และร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น และยังมีร่างข้อบังคับ 1 ฉบับที่ถูกสภาปัดตกไปแล้ว ได้แก่ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาก้าวหน้า นอกจากนั้น ยังมีร่างกฎหมายที่รอนายกรัฐมนตรีรับรอง, ร่างกฎหมายที่กำหลังรับฟังความเห็นอยู่ โดยยืนยันว่า นโยบายการสมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า, การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เป็นนโยบายเรือธงของพรคก้าวไกล ที่จะเสนอเป็นร่างกฎหมาย เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังมีสมาชิกทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎร ถึง 8 คณะ นายพิธา ได้เปิดเผยเป้าหมายการทำงานของประธานคณะกรรมาธิการ เช่น กมธ.ทหาร ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธาน ตั้งเป้าให้กองทัพมีสิทธิมนุษยชน การตายในค่ายทหารเป็นศูนย์ หรือ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ เป็นประธาน ตั้งเป้าส่งร่างกฎหมายเข้าสภาฯ 6 ฉบับ ส่งข้อเสนอ/กฎระเบียบ อีก 6 ฉบับ
ส่วนหมุดหมายสำคัญของการทำงานในปี 2567 นั้น นายพิธา ระบุว่า จะมีการกำหนด KPI และตัวชี้วัด เพื่อประเมินประธานคณะกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรค และ สส.ของพรรค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นในเดือนเมษายน พรรคจะพิจารณาในการเปิดอภิปรายรัฐบาลว่า จะเป็นในรูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนเดียวกัน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กร จากนั้นในช่วงกลางปีจะมีการเตรียมการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 และปลายปี 2567 นี้ พรรคจะพิจารณาการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น
จากนั้นเป็นช่วงถามตอบ โดยผู้สื่อข่าวถามถึงการแถลงวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงานของพรรคก้าวไกล แต่ในแง่ของฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบรัฐบาลอย่างไร นายพิธา กล่าวว่าก็คงมีการทำงานร่วมกันของพรรคฝ่ายค้านเหมือนกันทุกองค์กร ซึ่งแม้จะต่างพรรคกัน คงต้องมารวมกันทุกพรรค
ส่วนภาพที่รัฐบาลจะต้องเจอภายหลังจากที่นายพิธากลับมานั้น ในทุกสัปดาห์ เราจะมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คอยเก็บข้อมูล และลงพื้นที่ไปรับฟังพี่น้องประชาชน มีทีมงานเบื้องหลังก็มีการเรียบเรียงข้อมูลให้เห็น ว่าภาพที่รัฐบาลทำมีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง ตามกลไกของรัฐสภา ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป น่าจะพอเห็นภาพ
ส่วนการเตรียมหัวข้อในการอภิปราย นายพิธา กล่าวว่า เน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่คือ 1. ความล้มเหลวในการบริหาร 2. การประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น และ 3. การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ ตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้พูด แต่ทีมงายหลังบ้านกำลังทำข้อมูล เพิ่มขึ้นทุกอาทิตย์ ในส่วน กมธ. ก็สามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมได้ “สัญญากับพี่น้องประชาชน ว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง”
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลัวจะเป็นการสกัดดาวรุ่งของตัวเองหรือไม่ เนื่องจากได้เปิดเผยความต้องการในการทำงานไปแล้ว นายพิธา กล่าวว่า การทำงานของตน ไม่ได้มีแค่ตนและรัฐบาล แต่มีฝ่ายประชาชน ฝ่ายข้าราชการ เอ็นจีโอ องค์การระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ถ้าตนไม่พูดว่าต้องการอะไร ก็จะสะเปะสะปะ ภาคส่วนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมตรงไหน อย่างไร กับใคร และมองไม่เห็นการเมืองแห่งความเป็นไปได้ ต้องหาดุลภาพให้เจอ
ผู้สื่อข่าวถามว่าฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกลจะไม่เหมือนกับฝ่ายค้านชุดที่ผ่านๆ มา ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เราอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การทำกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา แน่นอนว่าต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเต็มที่อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบยังไม่พอ ต้องมีการแนะนำ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ในกระบวนการ
”เมื่อเราเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง เราจะได้ไม่มีข้อติดขัดต่างๆ ทำงานได้เลย เป็นการเรียนรู้ไปในตัว“ นายพิธา กล่าว
ถามถึงนโยบายที่มีตรงกันกับพรรคร่วมรัฐบาล มั่นใจแค่ไหน ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันนโยบายให้ผ่าน นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ดูจากสถิติ มี 2 กฎหมายที่เราสามารถผ่านสภาได้ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม และพ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ว่าไปกันคนละทาง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีกฎหมายที่ดีที่ตอบโจทย์กับพี่น้องประชาชน ตนคิดว่าบางเรื่องก็มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง อาทิ นโยบายเปลี่ยนโฉนดที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ก็เป็นนโยบายเดียวที่เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในทางปฏิบัติ
นายพิธา กล่าวต่อว่า เมื่อฟังการแถลงข่าวแล้วก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ว่าในเมื่อมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ก็ไม่เห็นข้อจำกัดคือข้ออ้างใดๆ ที่จะปัดตกตั้งแต่ชั้น กมธ.วาระแรก เพื่อให้ไปคุยกันในรายละเอียดวาระสอง และลงมติในวาระสาม ถ้าผ่านได้ก็คิดว่าเป็นผลงานของสภาร่วมกัน และพี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์