POLITICS

‘กัณวีร์’ ร่วมรำลึก 18 ปี ตากใบ ขอให้ 25 ตุลาคมของทุกปี ต้องเป็นวันแห่งการ รำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

วันนี้ (25 ต.ค. 65) นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ ความสูญเสียที่มีจุดเริ่มต้นที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยระบุว่า

“18 ปี ตากใบ : 25 ตุลาคมของทุกปี ต้องเป็นวันแห่งการ รำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ความเจ็บปวดต่อกรณีดังกล่าวต่อญาติผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน และรวมถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนในพื้นที่ มันคงไม่สามารถลืมเลือนไปจากความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ซ้ำร้ายเพราะความไม่กระจ่างชัดของฝ่ายรัฐบนความคลุมเครือ ต่อบทลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุการณ์วันนั้น ยิ่งทำให้ความเจ็บช้ำมันบาดลึกลงไปในรอยร้าวของความแตกแยกของคนในพื้นที่ต่อรัฐราชการไปทุกวัน

ผมค่อยๆ นึกถึงสถานการณ์ก่อนวันที่ 25 ต.ค. 2547 เนื่องจากผมได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ในการดูแลเรื่องนโยบายและแผนงานความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและได้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงเวลานั้นด้วย

ความทรงจำค่อยๆ กลับคืนมาถึงรายงานสถานการณ์ในช่วงระยะเวลานั้น โดยเฉพาะเรื่อง การที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยรวม ถูกเพ่งเล็งจากหน่วยความมั่นคงว่าเป็นผู้มอบอาวุธที่ได้รับจากทางราชการให้แก่กลุ่มขบวนการ จึงเป็นเหตุที่มาสำคัญของการจับกุมชุด ชรบ. ที่ประกอบไปด้วยชาวบ้านทั้ง 6 คน และเป็นเหตุชนวนให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ถัดมาจนถึงการเสียชีวิตของชาวบ้าน จำนวนมากกว่า 80 คน ที่หน้า สภ. และระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตั้งอยู่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทาง

หากความทรงจำของผมยังไม่เลือนลาง ผมยังจำคำพูดที่ว่า “มันใกล้ค่ำแล้ว หากยังช้าอยู่การเคลื่อนย้ายคนเป็นพัน จากตากใบ ไปค่ายอิงคฯ อาจมีอันตรายแน่ ระหว่างทางอาจเกิดปัญหาหากมันค่ำไป กำลังพลมาสมทบคงไม่พอ อีกอย่างรถที่เอาไปก็ไม่พอ มีแต่รถบรรทุกเพียงไม่กี่คัน ทางเดียวที่ทำได้ คือ เคลื่อนย้ายโดยเร็ว จับมือไพล่หลัง แล้วมัดต่อๆ กัน แล้วรีบนำตัวใส่รถบรรทุกวางเรียงๆ กัน…เห็นคนหลายคนพยายามเบียดเสียดกันขึ้นมาเพื่อเอาอากาศหายใจ แต่หยุดรถไม่ได้ เพราะหยุดขบวนจะกระทบทั้งหมด…”

นี่อาจเป็นความทรงจำเหตุการณ์ตากใบที่ถูกฝังอยู่ในใจผู้คนจำนวนมาก ซึ่งภายหลังในการชันสูตรพลิกศพที่ยังค้นหาข้อมูลจากสิ่งของต่างๆ จากผู้เสียชีวิต และพยายามตีเป็นทฤษฎีอะไรต่างๆ ที่มันดูและฟังแล้วอยู่เหนือความจริงไปเสียมาก ผมคงไม่สามารถพูดอะไรมากในที่นี้ได้

ยิ่งเขียนยิ่งเจ็บปวด เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รอยบาดแผลแห่งความอยุติธรรมนี้คงไม่มีวันเลือนหาย ถึงแม้ผู้กระทำผิดจะถูกนำตัวมาลงโทษก็ตาม มันคงไม่สามารถลบล้างความอดสู และความไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความละเอียดอ่อนในเชิงสังคมและการเมืองได้

แต่ที่เลวร้ายกว่า กลับพบว่า 18 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยยังไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนและความละเอียดอ่อนในบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด ผมเดินทางรอบโลกและกลับมาทำงานอีกครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (แต่คนละบริบท) ผมยังเห็นว่ารัฐไทยยังย่ำอยู่กับการใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและความละเอียดอ่อนของพื้นที่

รัฐไทยยังไม่สามารถถอดบทเรียนในการสร้างสันติภาพที่ควรใช้ Smart Power ให้ได้อย่างถูกบริบทกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ผมยังเห็นการขยายตัวและการสร้างอาณาจักรของหน่วยความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทั้งในรูปกำลังพล งบประมาณ และโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนและยุ่งเหยิงของทางการไทย มันสะอึกจนไม่รู้จะพูดอย่างไรกับภาครัฐของไทย หากยังไม่เปลี่ยน อย่าหวังว่าสันติภาพที่อ้างว่าจะเห็นจะบังเกิด

จากเหตุการณ์ หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ผมขอรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดและญาติของทุกคนที่ควรจะต้องได้รับการเคารพจากรัฐไทย และต้องเป็นวันที่เราต้องร่วมกันรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

ผมจะเร่งทำงานเพื่อปฏิวัติรูปแบบการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งหลายที่ผมมีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

เหตุการณ์ตากใบจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกต่อไป หากเรามีสันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่ และสันติภาพนี้ต้องเป็นสันติภาพที่กินได้ และ มนุษยธรรมต้องนำการทหาร และการเมือง ด้วยครับ”

Related Posts

Send this to a friend