POLITICS

‘ปริญญา’ แนะ เพื่อไทย – ก้าวไกล หันหน้าคุยกันปมเก้าอี้ประธานสภาฯ

‘ปริญญา’ แนะ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ หันหน้าคุยกันปมเก้าอี้ประธานสภาฯ มองไม่ควรแตกกันเพราะแบ่งงาน ฝากถึงผู้ยึดอำนาจแพ้แล้ว ควรประกาศให้ ส.ว. ฟรีโหวตเลือกนายกฯ

วันนี้ (25 พ.ค. 66) ผศ.ดร.ปริญญา เทวนานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงการเลือกประธานรัฐสภาซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลว่า เรื่องนี้เป็นการเจรจา ต้องเข้าใจ 2 ฝ่าย ตนเองไม่ได้พูดเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่รัฐบาลจากหีบบัตรเลือกตั้ง พรรคอันดับ 1 เป็นผู้ตั้งรัฐบาลโดยรวมพรรคอื่น จะแบ่งงานกันอย่างไรก็ควรตกลงกัน ไม่ควรแตกแยกเรื่องการแบ่งงาน เพราะประชาชนจะผิดหวัง ตนเองไม่ติดใจใครจะเป็นประธานสภาฯ แต่อย่าแตกกันเพราะเรื่องนี้

เหตุผลของพรรคเพื่อไทยคือ พรรคก้าวไกลได้หัวหน้าฝ่ายบริหารแล้ว จึงขอหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ อาจทำให้พรรคก้าวไกลไม่สบายใจ เพราะประธานสภาฯ จะทำหน้าที่ควบคุมการโหวตเลือนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าหาก 2 พรรคนี้จับมือกัน และมี MOU เฉพาะเพื่อยืนยันว่าจะร่วมเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วยกัน พรรคก้าวไกลอาจยอมให้พรรคเพื่อไทย แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่สามารถพลิกได้ พรรคเพื่อไทยก็ควรเข้าใจพรรคก้าวไกล ทั้ง 2 พรรคควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อทำให้ความคลางแคลงใจน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนต่างคาดหวังว่า เขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงคือเจตนารมณ์ของประชาชน

หาก 2 พรรคคุยกันไม่ได้ ก็ควรจะคุยกันให้ได้ ทางเลือกมีหลายทาง คือพรรคเพื่อไทยยอมพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลยอมพรรคเพื่อไทย แต่บนเงื่อนไขว่าเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วยกัน หรือทางเลือกที่ 3 ให้พรรคอันดับอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เอาแบบนี้ แต่หากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลตกลงกันไม่ได้ ก็ควรมีทางเลือกใหม่ เช่น พรรคประชาชาติ มาเป็นอันดับ 3 ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ จะวิถีทางใดก็ได้เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้า เพราะนี่คือการชนะขาดจากฝ่ายค้านเดิมที่ได้ 313 เสียง กับฝ่ายรัฐบาลเดิม 2 พรรครวมกันแค่ 76 เสียง ฉะนั้นมันไม่ควรจะตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะแบ่งประธานสภาฯ กันไม่ได้

เมื่อถามว่าความเคลือบแคลงใจของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลทั้งเรื่องประธานสภาฯ และมีพรรคไทยสร้างไทยเพิ่มเข้ามาอีกจะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลเป็นอย่างไร ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ที่มีถึง 313 เสียงนั้นเข้มแข็งมากพอแล้ว และเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม 8 พรรค ในเรื่องที่มีความระหองระแหงนั้นเป็นเพียงตัวบุคคล แต่หลักการที่ได้ลงนาม MOU ไปแล้วเป็นเรื่องใหญ่กว่า

เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังไม่ประกาศยอมแพ้จะทำให้ฉากทัศน์ของการเมืองเป็นอย่างไรต่อไป ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ถ้าตนเองเป็นทีมฟุตบอลแล้วแพ้ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศเพราะแพ้ไปแล้ว สำคัญคือ พรรคที่แพ้มีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. จึงอยากให้เราเข้าใจว่า มันคือกลไกที่ออกแบบมาให้ผู้ยึดอำนาจไปต่อได้ และบัดนี้ผู้ยึดอำนาจแพ้ไปแล้ว ซึ่งจะดีมากถ้าผู้ยึดอำนาจประกาศออกมาว่า “ให้ ส.ว.ฟรีโหวต ผมไม่ควบคุม แล้วแต่ ส.ว.จะฟังประชาชนหรือไม่” แต่การที่ไม่พูดออกมา มันอาจทำให้ประชาชนคิดว่าไม่จบ

Related Posts

Send this to a friend