POLITICS

เลขา ป.ป.ช. เผยหลักเกณฑ์ สร้างมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของพรรคการเมืองในการหาเสียง

วันนี้ (25 เม.ย. 66) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. มีหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการคุมเข้มการสกัดการทุจริตเชิงนโยบายของพรรคการเมือง โดยระบุว่า ตามกฎหมายของ กกต. มาตรา 57 ที่กำหนดให้ กกต. มีหน้าที่ตรวจสอบ หรือวิเคราะห์ในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะเสนอมาตรการ หรือข้อเสนอแนะต่อส่วนราชการตามลักษณะของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า หน่วยงาน องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดย ป.ป.ช. เห็นว่า นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ในการหาเสียงนั้น จะต้องมีการศึกษาและตรวจสอบในหลายประเด็น จึงได้เสนอเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย แบ่งเป็นข้อย่อยทั้งหมด 4 เกณฑ์ดังนี้

1.ให้มีการอธิบายถึงแหล่งที่มาของงบประมาณที่กำหนดนโยบายว่ามาจากไหนบ้าง รวมทั้งให้มีการอธิบายในเรื่องที่มีการหาเสียงเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยหรือต่างประเทศที่เคยมีการกำหนดไว้ก่อนหรือไม่

2.ผลการดำเนินการต่อนโยบายที่ประกาศออกมานั้นเป็นอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่ ซึ่งเปรียบเทียบกับนโยบายที่มีหลักแนวทางความคิด และวิธีการดำเนินการที่คล้ายกับนโยบายการเมืองที่ได้พัฒนาขึ้นมา

3.นโยบายที่พัฒนาขึ้นมา มีการระบุกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสียชัดเจนหรือไม่ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ทั้งทางตรง และทางอ้อมจากนโยบายดังกล่าวอย่างไร

4.นโยบายที่พัฒนา เป็นนโยบายที่เกิดในช่วงที่พรรคมาเป็นฝ่ายบริหารของประเทศก่อนหน้านั้น และมีการวางนโยบายดังกล่าวไว้ก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่

นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า ยังมีหลักเกณฑ์ชี้วัดผลกระทบความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบาย ซึ่งมี 6 หลักเกณฑ์ย่อย ดังต่อไปนี้

1.จัดให้มีบุคคลหรือคณะทำงานรับผิดชอบในการวิเคราะห์ผลกระทบในระยะสั้นถึงยาว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฐานะทางการเงิน และการเงินการคลังของประเทศ โดยพิจารณาความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ ความเสี่ยงของนโยบาย และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ที่มีการเปิดเผยรับฟังข้อสังเกตจากภาควิชาการ และภาคประชาสังคม

2.การศึกษาผลกระทบทั้งระยะสั้นไปจนถึงระยะยาวในด้านวินัยการเงินการคลังของประเทศ ระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน การเมือง ความมั่นคงประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์หลักของต่างประเทศ และผลกระทบต่อการดำเนินงานของเจ้าของโครงการ วิเคราะห์ให้ทราบถึงผลกระทบความคุ้มค่า และความเสี่ยงของนโยบาย ซึ่งมีแผนจัดทำการรองรับการปรับเปลี่ยนนโยบายเท่าที่จำเป็น

3.การศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายโดยตรง เช่นนโยบายที่เกี่ยวกับการเกษตร จะต้องศึกษาว่าเป็นการสนับสนุนภาคเอกชนประเภทใด และส่งเสริมการลงทุนอย่างไร

4.นโยบายดังกล่าวได้มีการศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับความสัมพันธ์หลักระหว่างประเทศ เช่น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายสินค้านำเข้า การส่งออกระหว่างประเทศ และนโยบายแรงงานระหว่างประเทศหรือไม่

5.ให้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างละเอียด กรณีนโยบายที่ไม่ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลัง หรือมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศ

6.เผยแพร่ผลการศึกษาออกสู่สาธารณะด้วยความโปร่งใส ชัดเจน และจัดให้มีช่องทางรับฟังข้อสังเกต และตอบข้อสังเกตจากสาธารณะอีกด้วย

สำหรับเกณฑ์แนวนโยบายเจตจำนงทางการเมือง (Political View) ในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น โดยพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายที่แสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องระบุให้ครอบคลุมทุกประเด็น เช่น นโยบาย วัตถุประสงค์ งบประมาณที่ใช้ กระบวนการที่พรรคการเมืองใช้กำหนดนโยบาย ไปจนถึงการวิเคราะห์ปัญหาการทุจริต และนโยบายที่มีการแก้ไขการป้องกันหรือการสนับสนุนการป้องกันทุจริต รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการแผ่นดิน

อีกทั้งยังมีเกณฑ์ชี้วัดการส่งเสริมความโปร่งใสการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบาย มีร่างแผนนโยบายที่จับต้องได้ การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตนโยบายวิเคราะห์ผลกระทบในระยะสั้นถึงระยะยาว เปิดเผยโปร่งใส และร่างรายงานดังกล่าวจะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมทั้งจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งให้ กกต. ตรวจสอบ และยึดเป็นนโยบาย

นายนิวัติไชย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ ประธาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือไปถึงประธาน กกต. แล้ว ซึ่ง กกต. เริ่มมีการขยับ นำนโยบายของพรรคการเมืองมาวิเคราะห์ และสอบถามรายละเอียด ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย และป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

Related Posts

Send this to a friend