POLITICS

กมธ.การต่างประเทศฯ มีมติ ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 เขื่อนแม่น้ำโขงออกไปก่อน

วันนี้ (12 ก.ย. 65) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการประชุมของ กมธ.การต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง “โครงการสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคาม” ซึ่งกั้นแม่น้ำโขง ใกล้พรมแดนไทย ว่า อาจส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไทย

ทั้งนี้ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ , กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย , สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) , กระทรวงพลังงาน , ตัวแทนของภาคประชาชนที่ร้องเรียน มาร่วมชี้แจง

สำหรับประเด็นที่คณะกมธ.มีความกังวลมากที่สุด คือ การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าครั้งนี้ มีบริษัทของไทยเข้าร่วมทุน และกรณีการก่อสร้างอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่าไฟฟ้า ซึ่งเมื่อสอบถามตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกมธ.พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถชี้แจงให้กระจ่ายได้ กมธ.รู้สึกกังวล หากจะมีการสร้างทั้ง 2 เขื่อน

“กมธ.เห็นตรงกันว่า ควรชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไปก่อน โดยเราจะทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยสัปดาห์หน้า ที่ประชุม กมธ.การต่างประเทศ จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ ยังระบุว่า กมธ.ตั้งข้อสังเกตกรณีการจัดทำรายงาน การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทำในพื้นที่ฝั่งลาวเป็นหลัก ทั้งที่ชาวบ้านฝั่งไทยก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสอบถาม พบว่าการมีส่วนร่วมของชาวบ้านฝั่งไทย ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรชะลอการลงนามออกไปก่อน เช่นเดียวกับกรณีเส้นเขตแดน ที่ กมธ.มองว่า เมื่อกระแสน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึกธรรมชาติ ที่เป็นเส้นเขตแดนด้วย โดยผลที่ตามมาคือ มีพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ประชาชนไทยเคยใช้ อาจหายไปจากการสร้างเขื่อน

ทั้งนี้ ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1926 โดยในข้อ 3 ของสนธิสัญญา ระบุว่า “เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในส่วนใดของแม่น้ำโขง ที่มีเกาะดอน ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ชิดฝั่งไทย เป็นเส้นเขตแดน”

“ กมธ.หลายท่าน ให้ความสนเรื่องร่องน้ำลึกตามธรรมชาติ ที่อาจเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนและทำให้ไทยเสียประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน เพียงแต่อธิบายว่า นอกจากสนธิสัญญา ยังมีแผนที่แสดงการแบ่งเขตแดน ในปี ค.ศ. 1929 – 1931 ที่ลากแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงด้วย แต่เป็นแผนที่ในอดีตที่จัดทำ อาจจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำด้วยวิธีไหน” นายรังสิมันต์ กล่าว

ส่วนประเด็นความจำเป็นในการรับซื้อไฟ ประธาน กมธ.ได้แสดงความเห็นว่า การรับซื้อไฟจากต่างประเทศ โดยการไปสร้างเขื่อน หากไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ก็คงไม่ต้องมานั่งถกปัญหากัน เช่นกรณีเขื่อนน้ำงึม ที่ไทยก็รับซื้อ และไม่ได้มีผลกระทบในเรื่องพื้นที่ แต่ 2 เขื่อนที่ชาวบ้านร้องเรียนนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบ จึงต้องนำเหตุผลมาเสนอว่า มีประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ปล่อยผ่านไปไม่ได้ จึงเห็นควรว่า ยังไม่ควรลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จนกว่าการชี้แจงจะชัดเจน

Related Posts

Send this to a friend