ส.ส.เชียงรายค้าน โอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่นระบุ 4 ข้อเงื่อนปมขัด หรือแย้งกับกฎหมาย

ส.ส.เชียงราย ค้าน โอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ระบุ 4 ข้อเงื่อนปมขัดหรือแย้งกฎหมาย โดยอาจจะไม่ใช่การกระจายอำนาจแต่จะเป็นการวางระบบสาธารณสุขของประเทศใหม่ แนะต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่ ดำเนินการต่อเนื่องวางระบบพัฒนา รพ.สต. โรงพยาบาล เพื่อปฏิรูปใหญ่
นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย ได้เขียนความเห็นผ่าน เฟซบุ๊ก “หมอเอก Ekkapob Pianpises” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยระบุข้อความดังนี้
กรณีปัญหาการโอน รพ.สต.
ยังมีเรื่องที่ต้องคิดต้องทำอีกมากเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จากการประชุมรับฟังข้อมูลผ่านกรรมาธิการการสาธารณสุขแล้วพบว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ที่มีการพูดถึงในขณะนี้ ยังไม่ได้มีการพิจารณากฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และ ยังมีความเห็นกันไปหลากหลายทิศทาง แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. เองยังมีความเข้าใจและความต้องการไม่ตรงกัน
โดยเฉพาะเรื่องสำคัญคือ …. ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาที่สุด!!!
ปัญหาในเชิงกฎหมายที่ยังไม่มีคำตอบที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน คือ
- พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ มาตรา 15 กำหนดให้ต้องมีแพทย์เวชศาตร์ครอบครัว และ ในมาตรา 43 กำหนดไว้ว่าเป็นความรับผิดชอบของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการ หากมีการโอนย้ายไปแล้วทาง อบจ.จะมีการดำเนินการอย่างไร
- การเบิกจ่ายค่ารักษาจาก สปสช. หรือบัตรทองอาจไม่มีปัญหา หากขึ้นทะเบียน รพ.สต. เป็นเหมือนคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่จะมีปัญหาการเบิกของประกันสังคม และ เบิกจ่ายราชการ
3.กฎหมายวิชาชีพ ที่ รพ.สต. มีงานรักษาพยาบาลด้วยแต่ใช้ข้อยกเว้นที่ว่า เป็นการให้บริการภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล ดังนั้น หากโอนย้ายแล้วตัดงานรักษาออกจะส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่
4.การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ อบจ. ไม่ได้แสดงถึงความพร้อมในการบริหารจัดการและ มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะจะแยกออกมาจากเงินเหมาจ่ายรายหัวอย่างไร
สรุป การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่นไม่ใช่การกระจายอำนาจแต่จะเป็นการวางระบบสาธารณสุขของประเทศใหม่ ดังนั้นจึงควรพิจารณามากกว่าแค่ถ่ายโอนหรือไม่ แต่จะพิจารณาเชิงระบบมากกว่านั้นเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
เพราะหากวางระบบไม่ดีเราจะประสบปัญหาเหมือนกับที่พบกับระบบสาธารณสุขของ กทม. ที่ถึงแม้จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง มีคลินิกชุมชนอบอุ่นมากมาย แต่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน
เราใช้โอกาสนี้ทำการปรับโฉมระบบสาธารณสุขไทยแบบ model change ได้ครับ
เพราะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทำ “30 บาทรักษาทุกที่” ถือว่าเริ่มต้น แล้วเพราะเปลี่ยนจากระบบที่มี gate keeper แบบทาง สแกนดิเนเวีย แคนาดา มาเป็น แบบไม่มี gate keeper แบบ ฝรั่งเศส ไปแล้วถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปแล้ว ก็น่าจะมีการดำเนินการต่อเนื่องและ ให้การวางระบบพัฒนา รพ.สต. โรงพยาบาล เป็นการปฏิรูปใหญ่ระบบสาธารณสุขไทยอีกครั้งครับ