POLITICS

‘ภูมิธรรม’ เผยยังคิดไม่ตกจะจัดประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 หรือ 3 ครั้ง

‘ภูมิธรรม’ เผยยังคิดไม่ตกจะจัดประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 หรือ 3 ครั้ง จ่อลงนามขอความเห็น กกต. ทั้งคณะ โยนสภาฯ เสนอ ศร. ตีความหากไร้ข้อยุติ ยกภาษิตนายกฯ “ทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำยังไงให้ได้” แต่หากสุดท้ายติดปัญหา เชื่อประชาชนจะเข้าใจข้อจำกัดความจำเป็น

วันนี้ (24 พ.ย. 66) เวลา 15:55 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การประชุมเป็นการรายงานความคืบหน้าในแต่ละประเด็น สำหรับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังเหลือการรับฟังความเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ และกลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ หากได้ความเห็นจากทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ การฟังความเห็นก็จะครบถ้วนจากทุกภูมิภาค ส่วนความเห็นจากฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ได้รับฟังความเห็นของรัฐสภาแล้ว เหลือรอรัฐสภาเปิดสมัยประชุม เพื่อฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป กระบวนการรับฟังความเห็นจึงจะครบถ้วน

“ฟังดูแล้วหลายเรื่องอาจจะยากที่จะสรุปให้เป็นเสียงที่เห็นพ้องต้องกันให้เป็นเอกสาร แต่เราถือว่าในฐานะเราเป็นคณะทำงานติดตามรับฟังทั้งหมดมา เราจะสรุปความเห็นของเราให้ชัดเจน แต่เสียงที่แตกต่างออกไป หรือมีความคิดเห็นแตกต่างไป เราจะบันทึกเป็นความคิดเห็นด้วย เพื่อให้ที่ประชุมที่จะพิจารณา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะรับเรื่องราวไป จะได้ทราบถึงความแตกต่างหลากหลายและตัดสินใจ” นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายภูมิธรรม ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาการจัดทำประชามติกี่ครั้ง ? จะเลือกการแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 256 หรือไม่ ? นั้น เป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก ขณะนี้สรุปว่า จะดำเนินการต่าง ๆ และพิจารณาข้อกฎหมายให้เชื่อมโยง โดยยึดหลักว่า จะทำให้กฎหมายประชามติสามารถเกิดประโยชน์ แก้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยตามที่คนอยากเห็นให้ได้มากที่สุด ควรจะใช้กฎหมายประชามติเป็นเครื่องมือเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ทันสมัยขึ้น ครอบคลุมถึงการใช้เทคโนโลยีในการออกเสียงได้ หรือแม้แต่ใช้กฎหมายประชามติที่เปิดอำนาจให้ทำได้กว้างขวางขึ้น เช่น จัดทำร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น

“ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย เพราะเราก็เพิ่งเริ่มจะใช้ (พ.ร.บ.ประชามติฯ) กัน เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะให้คณะอนุกรรมการศึกษาฯ ไปศึกษา และให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและออกมา” นายภูมิธรรม กล่าว

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมีมติให้ประธานฯ ทำจดหมายถึงองค์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามความเห็นให้ชัดเจน เนื่องจากการเชิญเลขาธิการ กกต. ที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถเป็นข้อสรุปในทางกฎหมายได้ จึงอยากเห็นข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน การตัดสินใจทางกฎหมายจึงจะชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้พิจารณา เกี่ยวกับอำนาจในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความไม่ชัดเจนอาจเป็นสาเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความได้ อย่างไรก็ตาม อยู่นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการฯ จึงเสนอให้พรรคการเมืองในที่ประชุมไปปรึกษาหารือถึงกระบวนการ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่ชัดเจน มีปัญหาอุปสรรคว่าจะต้องจัดทำประชามติกี่ครั้งและอีกหลายเรื่อง สภาผู้แทนราษฎรก็มีหน้าที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจนมากขึ้น

“ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญ ต้องถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก่อน จึงมาสู่ว่าจะทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง นี่จะเป็นประเด็นสำคัญ … เราไม่ได้คิดว่าท่าน (ศาลรัฐธรรมนูญ) เป็นที่ปรึกษา เราคิดว่าหากมีปัญหาข้อขัดแย้งที่ยุติไม่ได้ก็จะเสนอให้ท่าน (ศาลรัฐธรรมนูญ) พิจารณา” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม ย้ำว่า จากการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ จะประมวลข้อสรุปให้ชัดเจน และมีข้อเสนอภายในสิ้นปี 2566 ว่าจะไปถึงระดับไหน

“คณะทำงานทั้งหมด เรามุ่งมั่นตามไทม์ไลน์ทั้งหมดที่เราประกาศ และพยายามทำให้ถึงเงื่อนไขตรงนั้นให้ได้ อย่างที่นายกฯ บอก ทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำยังไงให้มันได้ แต่ถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้วมีปัญหา เราก็ชี้แจงประชาชน แล้วถ้าเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นข้อจำกัดที่ฟังได้ ผมว่าประชาชนก็เข้าใจ และความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นที่ห่วงใยว่ารัฐบาลจะดึงให้เกิดความล่าช้า แต่การดำเนินการเรื่องนี้ รัฐบาลตั้งใจจะทำให้เกิดความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ทั่วไปของประชาชนทุกส่วน ประชาชนทุกคนอยากได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทั้งนั้น เขาอยากได้บรรยากาศใหม่ และข้อกติกาใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการแก้ไขพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

Related Posts

Send this to a friend