‘ก้าวไกล’ ท้วง แนวทางการพิจารณาแก้ไข รธน.ของ กมธ. ชี้ ขัดข้อบังคับ เตรียมพิจารณาส่งศาล รธน. วินิจฉัย
‘ก้าวไกล’ ท้วง แนวทางการพิจารณาแก้ไข รธน.ของ กมธ. ชี้ ดำเนินการขัดข้อบังคับการประชุม เตรียมฟังความเห็นสมาชิก ก่อนพิจารณาส่งศาล รธน. วินิจฉัย
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ร่วมแถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยกติกาการเลือกตั้ง และญัตติด่วนขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2 เรื่อง มีความซับซ้อนในกระบวนการและเนื้อหามาก และมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายส่วน โดยเฉพาะข่าวที่ว่าพรรคก้าวไกลขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องการรักษาผลประโยชน์ของพรรคตัวเองไว้ด้วยกติกาการเลือกตั้งแบบใบเดียว ย้ำว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริง ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในจุดยืนของพรรค และเพื่อให้ทุกฝ่าย ติดตามการประชุมรัฐสภาได้เข้าใจมากขึ้น พรรคก้าวไกลจึงขอแถลงและอธิบายจุดยืนในการเข้าประชุม คือ
1.พรรคก้าวไกลสนับสนุนการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบจัดสรร ปันส่วนผสมกลายพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ 60 อันเป็นปัญหาทางการเมืองและความไม่สง่างามของรัฐสภาในปัจจุบัน
2.พรรคก้าวไกลเสนอให้ปรับปรุงกติกาการคำนวณคะแนนของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เหมือนกับแบบที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเสนอ เพราะถึงจะเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของพรรคการเมือง แต่ชัดเจนในข้อเท็จจริงว่าเป็นการคำนวณคะแนนที่เบี่ยงเบน ไม่สะท้อนเสียงที่ถูกต้องของประชาชนที่ลงคะแนน และเอื้อประโยชน์ให้เกิดเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ สร้างข้อได้เปรียบมากเกินไปให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ลดทอนการแข่งขันที่เป็นธรรม
3.พรรคก้าวไกลเสนอการคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ด้วยระบบจัดสรรปันสัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อให้จำนวนเก้าอี้ ส.ส.มีจำนวนตรงกับจำนวนคะแนนของพรรคที่ได้รับในการเลือกตั้ง ระบบนี้จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ และทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสร้างฉันทามติในบริบทของสังคมไทยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองนอกสภา
4.พรรคก้าวไกลยืนหยัดในความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการนั้น กรรมาธิการจำนวนมากและนักวิซาการทางกฎหมาย ได้ชี้ประเด็นที่บกพร่องมากมายในร่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหลักการไว้แคบมากให้แก้ไขเพียง 2 มาตรา เหตุผลประกอบหลักการที่ขัดแย้งในตัวเอง กระบวนของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่หยิบเอามาตราที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบไปแล้วในวาระที่ 1 นำมาเพิ่มในชั้นกรรมาธิการ การเพิ่มเติมและตัดมาตราอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในหลักการ และอื่นๆ ดังจะได้อภิปรายในญัตติด่วนต่อไป
การกระทำเช่นนี้ทำลายหลักความถูกต้องของกระบวนการนิติบัญญัติ สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะเป็นแหล่งอ้างอิงที่อันตรายมากในอนาคต สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคก้าวไกลนำโดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ จึงได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาวินิจฉัยเสียก่อน และ นายรังสิมัน โรม ได้เสนอการแปรญัตติสงวนความเห็นในมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น เพื่อเป็นทางออกให้กับรัฐสภาแห่งนี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างถูกต้อง รอบคอบที่สุด
เมื่อถามว่า เหตุผลในการแถลงจุดยืน เพราะพรรคเสียผลประโยชน์หรือไม่ นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ระบบบัตรเลือกตั้งที่พรรคนั้นได้ประโยชน์ที่สุดคือแบบบัตรใบเดียว ซึ่งต่อให้เป็นแบบบัตรสองใบแบบปี 40 พรรคก้าวไกล ก็อาจจะได้รับคะแนนสนับสนุนอย่างมากก็เป็นไปได้ แต่เจตนารมณ์ของพรรคยืนยันชัดเจนไปตั้งแต่วาระที่หนึ่งแล้วว่านักการเมืองไม่ควรจะมาถกเถียงกันเอง ควรเป็นเรื่องของ ส.ส.ร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นักการเมืองเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ในเมื่อมีความพยายามจะแก้ไขระบบบัตรเลือกตั้ง แต่หากไม่ปิดสวิสซ์ ส.ว. ก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะเสียงข้างมากยังคงจัดตั้งได้อยู่ดี พร้อมย้ำว่าพรรคก้าวไกลสู้เพื่อความถูกต้อง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายไพบูลย์ ได้ถอนประเด็นที่สุ่มเสี่ยงขัดต่อระเบียบข้อบังคับที่ประชุมออกไป พรรคก้าวไกล จะเดินหน้าต่ออย่างไร นายปดิพัทธ์ ระบุว่าจะรับฟังความเห็นจากที่ประชุมใหญ่ก่อน แต่โดยสาระยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังมีปัญหา ส่วนจะยื่นศาล รธน. ตีความหรือไม่ คงขอให้เป็นแนวทางหลังจากนี้