POLITICS

นายกฯ หวังกระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงเกรดเอ

ช่วยส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก กำชับทูตไทย-พาณิชย์ และบีโอไอ ชูศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่อนานาชาติ พร้อมดันนโยบายเชิงรุกให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

วันนี้ (23 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอเรื่องประเทศเป้าหมายสำคัญสำหรับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ณ กระทรวงการต่างประเทศ ภายในงานมีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตไทย กงสุลใหญ่ไทย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงการต่างประเทศ โดยก่อนการประชุม นายกฯ ได้ร่วมถ่ายรูปกับเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยจากทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้

จากนั้นนายกฯ ได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ โดยมี นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอกลยุทธ์ 7C : Common Goal ประกอบด้วย Customer-centric, Co-creation, Cooperation, Connectivity, Care และ Can do ขณะที่ผู้แทนจากบีโอไอ ได้มีการนำเสนอยุทธศาสตร์ด้านการประสานงานกับต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยไทย

ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวตอนท้ายของงานว่า แม้การทำงานจะเจออุปสรรค แต่ถ้าเรามีการทำงานแบบ Can Do Attitude “เราจะไม่ยอมรับ คำว่าทำไมได้” เพื่อให้สามารถทำลายกำแพงได้ เชื่อว่าศักยภาพไทยจะได้นำมาเผยแพร่ในเวทีโลกอย่างแน่นอน รวมถึงอยากเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงการทำงานแบบเกรดเอ ที่ช่วยผลักดันและเอื้อให้การปฏิบัติหน้าที่ในเวทีโลกทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และอยากให้มีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานช่วยเสริมสร้างศักยภาพการทำงานมากขึ้น

การประชุมและรับฟังการนำเสนอในการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ในช่วงเวลา 2 วันที่ผ่านมานี้ ทำให้มีความชัดเจนในนโยบายการทำงานร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เพื่อนำศักยภาพของไทยไปสู่เวทีโลก ตนเองขอชื่นชมแนวทางการจัดประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่ประกอบเป็นทีมไทยแลนด์ (Thailand Plus) นี้ และขอฝากอนาคตของประเทศไทยไว้ในมือทุกคนด้วย

ด้าน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอสิ่งที่จะนำไปขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดกลุ่มประเทศเป้าหมาย 10 ประเทศ ในการส่งเสริมการค้า โดยแบ่งประเทศเป้าหมายตลาดหลัก ได้แก่สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วนตลาดที่มีศักยภาพ คือ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้ และตลาดศักยภาพใหม่ คือ ซาอุดิอาระเบียและแอฟริกาใต้ แต่ทั้งนี้ตลาดอื่นๆก็มีความสำคัญกับประเทศไทย เช่น ตลาดสหภาพยุโรป ตลาดแอฟริกา ตลาดภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งเราก็จะส่งเสริมต่อไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend