POLITICS

iLaw เตรียมเปิดโต๊ะเข้าชื่อด่วนเย็นนี้ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร

หลัง iLaw ได้รับแจ้งว่า ‘เข้าชื่อออนไลน์ เสนอคำถามเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้’ ทำ 40,000 ชื่อที่ลงมาแล้วตกหล่น

โครงการอินเตอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw แถลงข่าวด่วนที่สำนักงาน เมื่อกลางดึกวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า ได้รับคำตอบจาก นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า “ไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าชื่อเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ได้” ทำให้รายชื่อที่ลงนามผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในเว็บไซต์กว่า 40,000 รายชื่อ ประเด็นประชามติ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ไม่สามารถใช้ได้

iLaw ยังระบุอีกว่า เครือข่ายภาคประชาชนเคยทำหนังสือสอบถามเรื่องการลงชื่อออนไลน์ไปยัง กกต. ตั้งแต่ปี 2565 และได้รับหนังสือชี้แจงหมายเลข ลต 0012/2565 เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า “การเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ ไม่ได้กำหนดวิธีการลงชื่อเอาไว้” เพียงแต่ต้องมีรายละเอียดเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-สกุล และลายเซ็น ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบันทึกลงบนแผ่น CD หรือแฟลชไดร์ฟมาส่งด้วยเท่านั้น

ทั้งนี้ มีผู้พยายามนัดหมาย กกต. เพื่อสอบถามตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แต่ได้รับการตอบกลับมาอย่างกำกวม ไม่ได้ระบุอชัดเจนว่าลงรายชื่อออนไลน์ได้หรือไม่ อีกทั้งก่อนเริ่มแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญติดต่อไปหา กกต.เพื่อสอบถามว่าการลงชื่อออนไลน์ทำได้หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ กกต.ขอให้เป็นการนัดพูดคุยแทน แต่ก็เลื่อนนัดมา จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กกต. แจ้งว่าไม่สามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้

รายชื่อที่ลงชื่อมาแล้วทั้ง 57,800 กว่ารายชื่อของประชาชนจะถูกลดหายไปมากกว่า 40,000 รายชื่อ ทำให้รายชื่อที่ต้องใช้สำหรับเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติต่อรัฐบาลให้ทันการประชุม ครม. นัดแรกอาจไม่ถึง 50,000 รายชื่อที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

กกต. ให้เหตุผลว่า การลงชื่อผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาเป็นแบบฟอร์มนำส่ง กกต.ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กกต.ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มาตรา 4 เพราะเป็นองค์กรอิสระ แตกต่างจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอื่น ๆ ที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้

iLaw ยังระบุว่า นายวีระ กล่าวว่า กกต.เคยส่งหนังสือตอบข้อสอบถามจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 ในหัวข้อเช่นเดียวกันนี้ รวมถึงอัปโหลดเอกสารดังกล่าวลงเว็บไซต์ของ กกต.เรียบร้อยแล้ว ทว่าจากการสืบค้นยังไม่พบเอกสารดังกล่าว ตามที่ กกต.แจ้ง

ทั้งนี้ วิธีการนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นตามที่ กกต.อธิบาย หลังประชาชนกรอกแบบฟอร์มในกระดาษพร้อมลงลายมือชื่อแล้ว ผู้เสนอจะต้องนำรายชื่อดังกล่าวมาสแกนให้เป็นไฟล์ PDF และกรอกข้อมูลของผู้ลงชื่อทั้งหมดเป็นไฟล์ Excel นำส่ง กกต.ในรูปแบบ CD และ กกต.จะใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อไม่เกิน 30 วัน เป็นกระบวนการที่สร้างภาระเกินความจำเป็น โดยเฉพาะกับประชาชนที่ต้องการจะใช้สิทธิตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาชนจะพยายามรวบรวมรายชื่อส่ง กกต.เพื่อเสนอให้ทันการประชุม ครม.นัดแรกตามเจตนารมณ์เดิมที่เคยประกาศไว้ จึงขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่เคยเข้าชื่อไปก่อนหน้า รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ลงชื่อ ช่วยกันรวมรายชื่อในรูปแบบกระดาษ ส่งมายังโต๊ะเข้าชื่อที่ใกล้ที่สุดอีกครั้ง ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก่อนเวลา 20.00 น. และร่วมลุ้นความพยายามที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ซึ่งเหตุดังกล่าวจะทำให้เหลือเวลาอีกประมาณ 3 วัน ในการเข้าชื่อในกระดาษ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า เราไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของ กกต.แต่จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเสนอคำถามประชามตินี้ให้ได้ ถ้าทุกคนเข้าใจว่าทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จำเป็นต้องขอแรงประชาชนสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้จะมีการเปิดจุดลงชื่อด่วน ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แยกปทุมวัน เวลา 16:00-20:00 น. และจุดอื่นทั่วประเทศ

Related Posts

Send this to a friend