POLITICS

‘พิธา’ นำทีมเศรษฐกิจ พบสภาอุตสาหกรรมฯ เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน

‘พิธา’ นำทีมเศรษฐกิจ พบสภาอุตสาหกรรมฯ เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน แลกเปลี่ยนนโยบาย-ข้อเสนอ แจงสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณารายประเด็น

วันนี้ (23 พ.ค. 66) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร และ สุพันธุ์ มงคลสุธี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3 สมัย พบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม

บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ตรงกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะไปบรรจุในนโยบายรัฐบาล เช่น เรื่องราคาพลังงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เป็นต้น ภาคเอกชนเชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ดำเนินการด้วยความโปร่งใสรอบคอบ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่อนาคตได้

พิธา กล่าวว่า ตนมีโอกาสทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยคุยกันเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมคลัสเตอร์พลัส แต่เวลาผ่านไปเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่คุยกันค้างไว้ไม่ได้มีการทำต่อ พรรคก้าวไกลจึงต้องการเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ใหม่ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น blockchain มาใช้ การสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand ที่ประเทศไทยไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก

อุตสาหกรรมไทยในอนาคตจำเป็นต้องมี 3F หนึ่งคือ Firm Foundation หรือพื้นฐานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น แรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สองคือ Fair หรือความเป็นธรรม เพราะ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยเติบโตจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ในการพาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้วย และสุดท้าย คือ Fast Growing Industry ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ประเทศไทยถึงแม้ไม่มีทรัพยากรเช่นโคบอลต์ นิกเกิล ที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่แบบต่างประเทศ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องหาช่องว่างในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังมีคู่แข่งน้อย เช่น การผลิตชิป ซิลิคอนคาร์ไบด์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน

“…ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ…” พิธากล่าว

ส่วนหนึ่งที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ คือการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ให้สำเร็จ ซึ่งพิธากล่าวว่าการทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ ภายหลังจากที่ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าการเจรจา FTA ไทย-อียู จะเสร็จสิ้นได้โดยเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูอัตราการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA Utilization) ก็จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ภายใต้รัฐบาลใหม่การใช้ประโยชน์จาก FTA นี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานต่อไป

ส่วนความกังวลในการปรับขึ้นค่าแรงนั้น พิธาให้คำมั่นว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องทำไปพร้อมกับการดูแลปากท้องของพี่น้องแรงงาน ถ้าท้องไม่อิ่มก็ไม่สามารถคิดเรื่องการเพิ่มทักษะได้ แต่นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นการขึ้นค่าแรงพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน การเสริมทักษะแรงงาน และมีระบบในการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อให้ผลิตภาพและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน

ส่วนในขั้นต่อไปที่ตนและพรรคก้าวไกล อยากทำงานต่อกับสภาอุตสาหกรรมฯ คือการตั้งคณะทำงานรายคลัสเตอร์ โดยเอาโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เทคโนโลยี เงินทุน แรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ดีที่เราได้พูดคุยกัน โดยที่สำคัญคือมีนโยบายหลายเรื่องที่ทางเรายังไม่เข้าใจในแนวทางการปฏิบัติก็ได้รับฟังคำชี้แจงในวันนี้ เชื่อว่าจะช่วยกันผลักดันศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ร่วมกันผลักดันประเทศไปข้างหน้าด้วยเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมใหม่ การกิโยตีนกฎหมายที่ล้าสมัยและปูทางให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศ โดยพิจารณาจากทุกปัจจัยรอบข้าง และหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อประสานการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงในการพบกันครั้งต่อไปจะมาลงรายละเอียดให้มากขึ้นด้วย

Related Posts

Send this to a friend