POLITICS

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง เวทีผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม 4th APWS ย้ำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล

วันนี้ (23 เม.ย. 65) เมื่อเวลา 13.18 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ ในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (The Fourth Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS)

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของญี่ปุ่นด้านการจัดการน้ำ พร้อมระยุว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยได้วางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศที่ครอบคลุม ผ่านพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และยังสนับสนุนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยให้ความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในช่วงที่เผชิญความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้เร่งกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างสมดุล เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลอย่างครอบคลุม รวมถึงดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า รัฐบาลได้บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยรณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยี 3R คือ Reduce มุ่งลดการใช้น้ำ Reuse นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle นำน้ำมาใช้หมุนเวียน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ และนำระบบเตือนภัยล่วงหน้าเข้ามาใช้ เพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางน้ำ

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เป็นกลไกหลักเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย แผนงาน และการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มั่นคงและยั่งยืน

ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ย้ำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน ตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมชื่นชมข้อริเริ่มและความมุ่งมั่นด้านน้ำของญี่ปุ่นในการสร้างสังคมคุณภาพ ที่มีภูมิคุ้มกัน ยั่งยืน ครอบคลุม โดยเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันต่อการทบทวนการดำเนินการในครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศด้านน้ำ ค.ศ. 2018 – 2028 รวมไปถึงบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคงให้กับลูกหลานต่อไป

Related Posts

Send this to a friend