POLITICS

จับตาบทบาทไทยเจ้าภาพ APEC และแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ

“ประธานาธิบดีไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ได้บรรจุการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ พร้อมทั้งนิยามว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนา และการปกครอง … การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นจึงถือเป็นความสำคัญลำดับต้นในรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน” จันทนา รวินทรนาถ ผู้อำนวยการการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าว

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งรวมถึงการกระทำผิดในระดับนานาชาติ ในวันนี้ ผู้สื่อข่าว The Reporters เปิดเผยความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อการทำงานประเด็นดังกล่าว และบทสัมภาษณ์โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น

ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 64 ทำเนียบขาวออกแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการตอบโต้การทุจริตคอรัปชั่น ขณะเดียวกันการตอบโต้การทุจริตคอรัปชั่นก็เป็นหนึ่งในเสาหลักของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นเวทีความร่วมมือกับหุ้นส่วนและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจและตอบโต้ต่อการทุจริตคอรัปชั่นในระดับนานาชาติและข้ามพรมแดน

“พวกเราไม่สามารถขจัดปัญหานี้ได้โดยลำพัง เนื่องจากเงิน ข้อมูล และสินทรัพย์ต่างเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็ว การทุจริตคอรัปชั่นจึงเป็นความท้าทายข้ามชาติอย่างชัดเจน … ไม่มีประเทศใดจะทำได้โดยลำพัง การร่วมมือกันเท่านั้นจึงจะเสริมพละกำลังกันได้” รวินทรนาถ กล่าว

แม้ รวินทรนาถ ยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสริมสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีหลายช่องทางกับรัฐบาลนานาชาติ ทั้งการประชุมเวทีต่าง ๆ รวมถึงการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย แต่พบว่าประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม

ผู้สื่อข่าว The Reporters จึงถามทบทวนความตั้งใจในการตอบโต้การทุจรติคอรัปชั่นในระดับนานาชาติของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า จำกัดจำเพาะบางประเทศหรือไม่ รวินทรนาถ จึงชี้แจงว่าไม่เป็นเช่นนั้น สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นร่วมมือกับทุกประเทศในการตอบโต้การทุจริตคอรัปชั่นในระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องดูการตอบสนองทางการเมืองของประเทศปลายทางเช่นกันว่าต้องการร่วมมือทำการร่วมกันหรือไม่

“แน่นอนว่า สหรัฐอเมริกาต้องการร่วมมือกับทุกประเทศที่แสดงออกว่ามีเป้าหมายและกลไกในการต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่น เราพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นภายในพรมแดนตนเองได้ด้วย” รวินทรนาถ กล่าว

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะมุมมองที่มีต่อการทุจริตคอรัปชั่นนั้นเปลี่ยนไป โดย แมทธิว สตีเฟนสัน ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายผู้สื่อข่าว The Reporters ว่า การทุจริตคอรัปชั่นไม่ใช่ปัญหาทางศีลธรรมหรือกฎหมายเพียงระดับปัจเจกบุคคล แต่ขยายอาณาเขตผลกระทบไปถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นอกจากนี้ มีผลการศึกษายังพบว่า การทุจริตคอรัปชั่นในวงกว้างมีสาเหตุมาจากวิกฤตปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ตลอดจนขาดการศึกษาและบริการสาธารณสุข ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นผลกระทบบั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติ ทลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลและระบอบการปกครองได้

“เราจะหรือควรที่จะหาตัวและลงโทษผู้กระทำผิดเป็นรายคนได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าคิดจะจริงจังต่อการลดการทุจริตคอรัปชั่น เราก็ควรตระหนักถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ ของการทุจริตคอรัปชั่นด้วย” สตีเฟนสัน กล่าว

เช่นกันกับเจ้าหน้าที่ในระดับบริหารหรือปฏิบัติการในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่าง เจนนิเฟอร์ ลูอิส รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ คณะทำงานต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ที่มีบทบาทสนับสนุนนักปฏิรูปในระบบราชการ ผู้สังเกตการณ์ในภาคประาสังคม และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในการเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้กับสาธารณะ

“เราตระหนักดีว่าคอรัปชั่นไม่ใช่เพียงการประพฤติมิชอบ แต่เป็นถึงระบบโครงสร้าง ดังนั้นเราจึงมุ่งแสวงหาหนทางการทำงานระยะยาวในแต่ละท้องถิ่น ที่เสริมสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรอื่นบนพื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตย” ลูอิส กล่าว

ด้าน แชนนอน กรีน ที่ปรึกษาอาวุโสของกรรมการบริหารองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเกิดแนวทางการร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจระหว่างกัน ไม่ใช่เพียงในรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่รวมถึงหุ้นส่วนและภาคส่วนต่าง ๆ ของเราที่มีปณิธานร่วมกันในภารกิจนี้

อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระดับนานาชาติ คือ กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (DoS) ซึ่ง เจมส์ วอลช์ ผู้ช่วยเลขานุการรองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกายกระดับความช่วยเหลือทางการทูตและการต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นในระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมสร้างกฎหมาย ข้อบังคับ และสถาบันทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ผ่านยุทธศาสตร์ในระดับนานาชาติ ดังนี้

  1. DoS พัฒนากรอบความร่วมมือผ่านแต่ละหน่วยงานของรัฐบาล เช่น การตั้งผู้ประสานงานการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นระดับโลก ซึ่งมีหน้าที่บูรณาการและยกระดับการต่อสู้การทุจริตคอรัปชั่นในทุกด้าน ผ่านการทูตและความช่วยเหลือนานาชาติของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งทำงานร่วมหกันอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนและสำนักงานในระดับนานาชาติต่อไป
  2. DoS ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและหุ้นส่วนอื่น เราพัฒนากรอบการทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางตอบสนองการทุจริตคอรัปชั่น
  3. DoS ให้ความสำคัญมากขึ้นต่อมิติที่หลากหลายของการทุจริตคอรัปชั่นข้ามชาติ โดยร่วมมือแบบพหุภาคีกับสมาคมการเงินต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นระดับโลก (Global Anti-Corruption Consortium) สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน (Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor: DRL) ตลอดจนนักข่าวสายสืบสวนและภาคประชาสังคม เพื่อเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นข้ามชาติ ผลักดันการปฏิรูปนโยบาย และกดดันเหล่าผู้กระทำผิดให้รับผิดชอบต่อการทุจริตมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น แบร์รี่ ฟูลเลอร์ตัน ผู้อำนวยการกองกิจการและนโยบายระดับโลก สำนักงานกิจการยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่า ประชาคมระหว่างประเทศได้ก่อกำเนิดกรอบความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างรัฐบาลนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น การประชุม G7 การประชุม G20 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) องค์การอเมริกันศึกษา และสภายุโรป

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงกรอบความร่วมมือและการทำงานระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ผู้สื่อข่าว The Reporters สอบถามโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย

“คอรัปชั่นมีอยู่ในทุกประเทศ มันกัดเซาะความเชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อรัฐบาลและสถาบันตามหลักประชาธิปไตย ซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม เป็นภัยต่อความมั่นคงสาธารณะ และระงับโอกาสและความเจริญรุ่งเรือง มันกระทบหลากมิติในชีวิตประจำวันของผู้คน ผลาญทรัพยากรที่สำคัญ … นี่จึงเป็นสาเหตุที่ประธานาธิบดีไบเดนกำหนดให้การต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา” โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าว

โฆษกฯ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับพันธมิตรประเทศไทย ซึ่งเรามีประวัติศาสตร์การร่วมมือกันอย่างยาวนาน เพื่อเปิดเผยกระบวนการฟอกเงินและฉ้อโกงระหว่างประเทศ สนับสนุนหลักธรรมาภิบาล ฝึกฝนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และปกป้องชุมชนของเรา โดยมีการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย ผ่านการทำงานกับสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) ซึ่งเป็นศูนย์อบรมแห่งแรก ๆ ในภูมิภาคนี้สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยสนับสนุนหลักสูตรต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในหลายหลักการอยู่หลายฉบับต่อปี พร้อมทั้งชื่นชมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและเหล่าองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานสืบสวนสอบสวนคดีใหญ่มากมาย และเปิดโปงผลเสียต่อสังคมออกมา

นอกจากนี้ โฆษกฯ ยังชี้แจงถึงการดำเนินนโยบายในระดับภูมิภาคหรือที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า การทุจริตคอรัปชั่นถูกยกเป็นภัยคุกคามในวาระของ APEC โดยที่เจ้าหน้าที่อาวุโส APEC สถาปนาคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นและความโปร่งใส (ACTWG) ในปี 2004 เหล่าผู้นำสมาชิก APEC ต่างระลึกได้ว่า APEC สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นและส่งเสริมความโปร่งใส จึงมีการยกระดับคณะทำงานให้เป็นสถาบันและโครงสร้างอย่างชัดเจนในเดือนมีนาคม 2011

“เรามุ่งมั่นทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรของเรา อย่างประเทศไทย เพื่อส่งต่อความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความโปร่งใสในประชาคมโลก พร้อมทั้งยืนยันว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าร่วมมือกับหุ้นส่วนประเทศไทยอย่างที่เป็นมาในหลายทศวรรษก่อน เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทุกรูปแบบ นั่นรวมถึงการทุจริตคอรัปชั่น” โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว ท่ามกลางการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและข้ามพ้นพรมแดนแต่ละรัฐทั่วโลก ไม่ว่าจะในรูปแบบของการฉ้อราษฎร์บังหลวง การเคลื่อนย้ายเงินตราอย่างผิดกฎหมาย หรือในรูปแบบเล็กน้อยที่กระจายในสังคมเป็นวงกว้าง การทุจริตคอรัปชั่นก็ถูกยกเป็นประเด็นวาระสำคัญของหลายประเทศ ซึ่งสหรัฐอเมริกาที่บรรจุเป็นประเด็นความมั่นคงแห่งชาติก็มุ่งมาดปรารถนามอบความช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศที่มีเป้าหมายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากการทุจริตคอรัปชั่นต่อมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย และเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีนี้ คนไทยจึงต้องจับตาว่ารัฐบาลจะใช้โอกาสทองนี้ในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาเป็นอาทิ หรือแบบพหุภาคีผ่านเวทีอย่าง APEC เพื่อเป็นกลไกในการตอบโต้การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปอย่างไรบ้าง

รายงาน : ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend