POLITICS

นายกฯ มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 66

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” วางแนวทางจัดทำงบฯ สอดคล้อง ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (22 ธ.ค. 64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้รับทราบนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมีความคืบหน้า ทำให้ทยอยผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และในปี 2565 การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท  งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ  วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท  และเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  วงเงิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2565  ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด 

นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม โดยให้ยึดหลัก ดังนี้

1) น้อมนำแนวทางพระราชดำริ และ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมทั้งแนวทางของพระบรมวงศานุวงศ์มาประยุกต์ใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เหมาะสม

2) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยใช้งบประมาณทั้งในส่วนของหน่วยรับงบประมาณที่อยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานพื้นฐาน  เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข  ด้านการเกษตร  และแผนงานบูรณาการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการใช้แนวทางเกษตร Sandbox  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ แก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลสำเร็จอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่จำต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย

3)  บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผ่านระบบสารสนเทศ

4)  ประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด

5) เฝ้าระวังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง  จะต้องปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย

6) ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

7)  จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับ แนวทางในการจัดทำคำของบประมาณปี 2566 นั้น ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาภายใต้ 13 หมุดหมาย ของ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรง  ควบคู่กับประเด็นการพัฒนาตามแผนย่อยของแผนแม่บทฯ 23 ประเด็น ประเด็นการพัฒนาภายใต้ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และกิจกรรมปฏิรูปตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ 13 ด้าน  ที่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  และยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ ทั้ง  6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง เน้น การปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต  โครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิตและบริการ  ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มุ่งเน้น พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการนำแนวทาง BCG Model การจัดทำ Carbon Footprint และ การเพิ่มรายได้ของชุมชน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  สนับสนุนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล การส่งเสริมการกระจายอำนาจ  

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกหน่วยรับงบประมาณ จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  รวมถึงการนำโครงการสำคัญประจำปี 2566 โดยคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ  ทุกภาคส่วนราชการร่วมมือซึ่งกันและกันและต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะ การดำเนินงานทุกอย่างเป้าหมายของรัฐบาล คือประชาชน เพื่อประชาชน

Related Posts

Send this to a friend