POLITICS

‘วรภพ’ ซัด รัฐ ทำค่าไฟพุ่ง โต้ กกพ. ชี้ค่าไฟ 4 บาทต่อหน่วยยังเป็นไปได้

วันนี้ (22 ก.ย. 65) เวลา 10:30 น. ณ สำนักงานใหญ่พรรคก้าวไกล นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมตอบโต้คำแถลงของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ออกมาระบุว่าคนไทยจะไม่ได้เห็นค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วยอีกแล้ว

นายวรภพ ระบุว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการขึ้นค่า Ft 92 สตางค์ ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มโดยเฉลี่ยถึง 5 บาทต่อหน่วย กลายเป็นค่าไฟที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ และแม้ที่ผ่านมาจะมีการอนุมัติงบ ราว 9 พันล้านบาทออกมาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งในอนาคตประชาชนจะต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน

แม้จะมีการมองปัจจัยหลักของปัญหาไปอยู่ที่วิกฤติพลังงานจากสงครามยูเคนน-รัสเซีย แต่ตนเองขอยืนยันอีกครั้งว่าต้นตอจริง ๆ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานอยู่เหนือประโยชน์ของประชาชน โดยแบ่งเป็น 3ประการ ได้แก่

  1. มาจากการที่ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เป็นการจ่ายเข้าโดยตรงให้กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่อง ถึง 24 สตางค์ต่อหน่วย เหตุจากการที่รัฐไปทำสัญญาประกันกำไรค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความต้องการใช้ไปถึง 54% และกลายมาเป็นต้นทุนที่รัฐนำมาคิดกับประชาชนอีกทีหนึ่ง อีกทั้งประชาชนยังต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่อง ให้กับกลุ่มทุน ปตท. อีกต่อหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่มีความพยายามใดเลยในการเจรจาขอปรับลดแต่อย่างใด

นอกจากนี้ แม้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีมากเกินความต้องการไปแล้วถึง 17,000 MW แต่ที่ผ่านมากลับมีการรีบอนุมัติทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับ 5 เขื่อนในประเทศลาวเพิ่มอีก 3,900 MW โดยที่ไม่รอแผน PDP ฉบับใหม่ ทึ่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งการดำเนินการอย่างเร่งรีบนี้จะย้อนกลับมาเป็นภาระให้กับประชาชนในอยาคตต่อเนื่องอย่างแน่นอน

  1. จริงอยู่ที่ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนก๊าซนำเข้า 10 บาทต่อหน่วย แต่หากพิจารณาถึงปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า จะเห็นว่าอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยนั้นมีมากถึง 2,756 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าให้กับทั้งประเทศ เพียงแต่นโยบายของรัฐบาล ได้อนุญาตให้กลุ่มทุนพลังงานนำก๊าซจากอ่าวไทยที่ไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรมได้ก่อนถึง 811 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำไปขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีในเครือ ปตท. อีก 804 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมกัน 1,615 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 59% ของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถูกนำไปมอบให้เข้ากลุ่มทุนพลังงานโดยตรง ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้
  2. มาจากนโยบายที่ให้ครัวเรือนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่ากิจการขนาดใหญ่ โดยเก็บค่าไฟฟ้าจากครัวเรือนเป็นอัตราก้าวหน้า หรือยิ่งใช้มากยิ่งจ่ายแพง ขณะที่เก็บจากกิจการขนาดใหญ่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าแพงสุดต้องจ่ายที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ขณะที่กิจการขนาดใหญ่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าแพงสุดเพียง 3.74 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

“ค่าไฟหน่วยละ 4 บาทไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วอย่างที่ กกพ. ออกมาแถลง นี่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สงครามยูเครน-รัสเซียเป็นแค่ปัจจัยรอง แต่ปัจจัยหลักคือนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานต่างหาก ผมยืนยันอีกครั้งว่าค่าไฟที่ถูกลงที่หน่วยละ 4 บาทเป็นไปได้ หากเพียงรัฐมีการเปลี่ยนนโยบาย นำเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นหลักก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น” วรภพกล่าว

Related Posts

Send this to a friend