POLITICS

นักวิชาการ ‘สิงห์ดำ’ ชี้ ‘สงครามยูเครน’ สะเทือนระเบียบโลก

นักวิชาการ ‘สิงห์ดำ’ ชี้ ‘สงครามยูเครน’ สะเทือนระเบียบโลก ก่อวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ แนะผู้นำโลกเห็นความมั่นคงของมนุษย์เหนือความมั่นคงของรัฐ

วันนี้ (22 มี.ค. 65) ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” โดยมีอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กษิร ชีพเป็นสุข ดำเนินรายการ

รศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ เริ่มอธิบายภูมิหลังประวัติศาสตร์จากการก่อกำเนิดองค์กร OSCE ซึ่งมีบทบาทหลักคือการคุยกันระหว่างประเทศสมาชิกในยุโรปตะวันตก-ตะวันออก โดยไม่มีพันธกรณีตามกฎหมาย ขณะที่ความขัดแย้งในยูเครนก่อพัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ ด้วยการประกาศให้ไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย และข้อเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนดอนบัสในภาคตะวันออกของยูเครน แม้มีข้อตกลงบูดาเปสต์ และข้อตกลงมินสก์ แต่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง จนเกิดวิกฤตยูเครนขึ้นมา

“จากการรุกรานของรัสเซีย แม้ศาลอาญายุติธรรมระหว่างประเทศจะตัดสินว่าผิด แต่มันไม่มีกระบวนการบังคับใช้ เพราะรัสเซียก็ไม่ได้ให้สัตยาบันรองรับอำนาจศาล ทุกอย่างก็กลายเป็นสัญลักษณ์หมด นี่ถือเป็นวิกฤตการณ์ของความสัมพันธ์และกฎหมายระหว่างประเทศ” รศ.ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

รศ.ดร.ณัฐนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวิกฤตยูเครนเราเห็นบทบาทของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย คือเป็นตัวแสดงความมั่นคงขึ้นมา ท้าทายมหาอำนาจทางปทัสถานเดิม และแม้ยูเครนจะกรอกใบสมัครสมาชิกภาพอียูอย่างเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะต้องใช้เวลาและเกณฑ์ทางการเมืองในการพิจารณาพอสมควร

ผศ.ดร.พงษ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ขยายระดับการวิเคราะห์วิกฤตยูเครนจากระดับภูมิภาคของ รศ.ดร.ณัฐนันท์ สู่ระดับโครงสร้างระหว่างประเทศว่า ระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นมีสหรัฐอเมริกาเป็นขั้วอำนาจเดี่ยวผู้จัดแจงระเบียบระหว่างประเทศมาโดยตลอด แต่ก็มีมหาอำนาจที่ไม่พอใจและพยายามจะท้าทายระเบียบของสหรัฐอยู่ ทั้งจีน และอย่างในกรณีนี้คือรัสเซีย ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่านี่คือสงครามที่ปราศจากการยั่วยุ (Unprovoked War) ที่นำโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

“เริ่มมีนักวิชาการวิเคราะห์เหตุผลในการบุกรัสเซียว่าส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์และบทบาทของตัววลาดิเมียร์ ปูตินเอง การยื้อที่จะทำสงครามและยืนกรานว่าจะนำยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียก็คงยังปรากฏอยู่ในความคิดของผู้นำรัสเซีย แต่หากยืดเยื้อไป ก็จะกระทบกับเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียเองด้วย” ผศ.ดร.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

ด้าน อ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านมนุษยธรรมว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จะเห็นความร้ายแรงของสถานการณ์มนุษยธรรมในยูเครน ซึ่งมีการย้ายถิ่นเกิดขึ้นทุกวัน จนเกิดกระบวนการคุ้มครองชั่วคราว (Temporary Protection Directive) เช่น สิทธิเข้าถึงที่อยู่อาศัย สิทธิสวัสดิการ สิทธิการรักษา ฯลฯ ที่มอบให้โดยรวดเร็วกว่าการขอสถานะผู้ลี้ภัยตามปกติ

อ.ดร.ภาณุภัทร วิพากษ์ประเด็นระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ที่เป็นหนึ่งในประเด็นเจรจาของสองฝ่าย ซึ่งแม้เห็นว่ามีความจำเป็นมาก แต่ระเบียงดังกล่าวมักถูกใช้ในการลำเลียงอาวุธด้วย บางเส้นทางก็ไม่ปลอดภัย หรือบางเส้นทางก็เข้าไปในรัสเซีย จึงทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจากทั้งสองฝ่าย จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะสร้างระเบียงมนุษยธรรมอย่างไรต่อไป

“ทุกสงครามแม้เราจะพูดถึงประเทศ อธิปไตย ความสัมพันธ์ประเทศอะไรก็ตาม แต่เราจะลืมพูดถึงคนไม่ได้ เพราะคนมีเลือดเนื้อและจิตใจ เราต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงก็ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐ แต่เป็นเรื่องของคนที่ยังต้องอยู่ไม่ว่าจะมีรัฐหรือไม่ โจทย์นี้คือเราต้องมองความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ให้มากขึ้น” อ.ดร.ภาณุภัทร กล่าว

ผศ.ดร.กษิร ชีพเป็นสุข กล่าวทิ้งท้ายว่า มีการคาดการณ์ว่าวิกฤตการณ์ยูเครน อาจเป็นวิกฤตที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดเลยก็เป็นได้ เราต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ที่ใช้ความรุนแรงนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐ แต่มนุษย์ สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ก็ตกเป็นเหยื่อของความโหดร้ายรุนแรงนี้เช่นกัน วิกฤตดังกล่าวนอกจากจะทำให้เราเห็นข้อจำกัดของโลกที่เราอยู่ แต่เราก็จะเห็นความเป็นไปได้ในโลกด้วยเช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend