POLITICS

‘ขัตติยา’ ยืนยันต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน

‘ขัตติยา’ ย้ำ ‘เพื่อไทย’ หวังกระชับประชามติเหลือ 2 ครั้ง ยืนยันต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน ผ่านญัตติแก้ ม.256 หวัง ศร. ชี้ขาดข้อโต้แย้งในสังคม

วันนี้ (22 ม.ค. 67) นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ภายหลัง สส. พรรคเพื่อไทย 122 คน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567

นางสาวขัตติยา ย้ำเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด เพราะก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีคำว่า “ประชามติ” เกิดขึ้น แต่ข้อโต้เถียงในสังคมคือ การจัดทำประชามติจะต้องมีกี่ครั้ง ?

หากอิงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 นางสาวขัตติยา กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการจัดทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน ดังนั้น จึงมีผู้ตีความว่า จะจัดทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 คือก่อนแก้มาตรา 256 ครั้งที่ 2 การเปิดช่องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และครั้งที่ 3 คือการถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า อาจไม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินมาก คือ 3 – 4 พันล้านบาทต่อครั้ง ดังนั้น หากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประชามติครั้งแรกได้ ก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณถึง 4 พันล้านบาท จึงเป็นที่มาที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่า อาจจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็พอ จึงยื่นเรื่องต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แล้วเมื่อแก้ไขแล้ว จึงจะจัดทำประชามติต่อไป ซึ่งเป็นการถามรวบยอดหลังแก้ไขมาตรา 256 แล้ว

นางสาวขัตติยา มองบทบาทศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า ด้วยความที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ออกคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไม่อยากฟันธงว่ากำกวม แต่เป็นการสร้างคำถามในสังคมว่า การถามประชาชนนั้นต้องถามในขั้นตอนใด เพราะโดยธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ดี ๆ เราไม่สามารถไปถามได้ว่าตกลงต้องทำประชามติกี่ครั้ง มันต้องมีเหตุให้เกิดข้อโต้แย้งก่อน จึงเป็นที่มาที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรทำ 2 ครั้ง จึงต้องยื่นเรื่องต่อสภาฯ เพราะอาจเห็นว่าเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องถามประชาชน แล้วจะไม่บรรจุญัตติของพรรคเพื่อไทยเข้าไปในระเบียบวาระ จึงให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่า สภาฯ แก้ ม.256 ได้หรือไม่ แล้วตั้ง ส.ส.ร.

สำหรับประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร. นั้น นางสาวขัตติยา ยืนยันว่า เชื่อว่าทุกคนเห็นตรงกันว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจาก ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทนจากประชาชน ซึ่งคิดว่าไม่มีใครโต้เถียงอยู่แล้ว การที่เพื่อไทยยื่นเรื่องต่อสภาฯ เพื่อแก้ไขมาตรา 256 ก็เป็นการยื่นเพื่อแก้ไขข้อนี้ แล้วนำ ส.ส.ร. ใส่ลงไป แล้วถามไปในขณะเดียวกันว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

นางสาวขัตติยา ตอบยืนยันว่า เป็นความระมัดระวังที่สุดแล้ว เจตนาของพรรคเพื่อไทย คือ หากตามหลักที่พรรคเพื่อไทยคิดคือ ประชามติ 2 ครั้งจะประหยัดงบประมาณไปได้ 3 – 4 พันล้านบาท เพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยตอนหาเสียงคือ เรายืนมาตลอดว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราเดินทางนี้มาตลอด เราเห็นความเป็นรูปเป็นร่างของคณะกรรมการประชามติฯ เราเดินเป็นสเตป แต่ระหว่างทางมีคำถามที่จะต้องถาม และเพื่อที่เราไม่ให้เกิดอุปสรรคในระหว่างทางไปหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประหยัดเวลาและงบประมาณได้ เราจึงต้องเดินทางนั้น

“อย่ามองว่านี่คือการชะลอ หรือเตะถ่วง เดียร์คิดว่า เผลอ ๆ วิธีนี้อาจจะเร็วขึ้น เพราะอย่างน้อยเรามีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราแล้ว จะได้ไม่เป็นข้อโต้เถียงในสังคมด้วย” นางสาวขัตติยา กล่าว

Related Posts

Send this to a friend