‘ทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง’ มองฉันทามติ 5 ข้ออาเซียนไม่พอ จำเป็นต้องเจรจาสันติภาพเมียนมา
‘ทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง’ มองฉันทามติ 5 ข้ออาเซียนไม่พอ จำเป็นต้องเจรจาสันติภาพเมียนมา เชื่ออยู่ในใจ ‘เศรษฐา-ปานปรีย์’ แล้ว ตามวิสัยทัศน์ดึงเพื่อนบ้านกลับสู่กรอบความร่วมมือ เพื่อเปิดประตูการค้า-ประชาชนได้ประโยชน์
วันนี้ (21 พ.ย. 66) นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์ ณ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับบทบาทของไทยต่อสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา และความช่วยเหลือกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา
นายมงคล กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบว่า ถือเป็นเรื่องภายใน ซึ่งความขัดแย้งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้วเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี จนมีปัจจัยใหม่เพิ่มมา คือ การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ พ.ศ. 2564 การสู้รบก็รุนแรงและมีพัฒนาการมาโดยตลอด
รัฐบาลไทย มีหน้าที่ช่วยดูแลพื้นที่ชายแดน ให้มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย หากมีผู้หนีภัยจากการสู้รบออกมา ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแล ให้ที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจังหวัด สภากาชาดจังหวัด และฝ่ายปกครองในพื้นที่ก็มีบทบาทสูง ในการให้ความช่วยเหลือบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินต่อไปเพราะการสู้รบยังมีอยู่ และเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า อาจมีคนจากฝั่งเมียนมา เข้ามาหาที่พักพิงชั่วคราวในระยะนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมแล้วในระดับพื้นที่ อย่างในหลายอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก
“ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความพยายามมาโดยตลอด หลัก ๆ คือการสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน แต่นอกจากนั้น มันไม่พอ ต้องมีวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถช่วยเมียนมาในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ให้ฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว”
นายมงคล มองแนวโน้มสถานการณ์ว่า กองทัพเมียนมามีศักยภาพ ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านก็มีศักยภาพ การปะทะสู้รบก็ยังยื้ออยู่อย่างนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ กลับมาหาทางเจรจาร่วมกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้ความอดทนสูง อย่างในพื้นที่รัฐยะไข่ที่มีการหยุดยิงชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ในปีที่ผ่านมา หากมีการเจรจาอีกครั้งก็เป็นครั้งที่ 3 หากประสบความสำเร็จได้ก็ต้องใช้ความพยายาม ทางภาคใต้เองก็มีการสู้รบที่หนัก จึงต้องอาศัยความพยายามจากทุกฝ่าย รวมถึงคนที่มีบทบาทเจรจาพูดคุยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
“หากยังยืดเยื้อ แน่นอนกระทบกับประเทศไทย เพราะแม่สอด-เมียวดี ก็เป็นประตูการค้าที่มีความสำคัญ เฉกเช่นเดียวกัน พื้นที่ทางเหนือก็เป็นด่านการค้าจีน-เมียนมา ที่มีความสำคัญอันดับ 1-2 สินค้าเมื่อผ่านไปมาไม่ได้ก็กระทบกับชีวิตของประชาชน” เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าว
นายมงคล เปิดเผยจุดยืนของรัฐบาลไทยว่า ที่ผ่านมาก็สนับสนุนเรื่องการพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นผ่านวิธีต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ มิฉะนั้น จะเป็นการเสียโอกาส เพราะเรื่องสำคัญอันดับแรกคือ ทำอย่างไรที่จะให้หยุดการสู้รบกัน สามารถส่งผ่านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เกิดการพูดจาบนโต๊ะเจรจา หาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข หรือนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ และนำเมียนมากลับสู่ประชาคมระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีวิสัยทัศน์สนับสนุนให้เมียนมากลับสู่สังคมของอาเซียน ซึ่งหมายความว่า ต้องมีความพยายามเพิ่มขึ้น ดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น เมื่อเมียนมากลับสู่อาเซียน กรอบความร่วมมืออื่น ๆ และประชาคมโลกได้แล้ว ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ และกลับมาดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข เศรษฐกิจก็พัฒนาเดินหน้าต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านสงบร่มเย็น เป็นโจทย์ร่วมกันของคนไทยและคนเมียนมา
ส่วนปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายมงคล กล่าวว่า หากไม่สามารถฟื้นคืนสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาได้ อาชญากรรมข้ามชาติ อย่างการค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และค้าสิ่งของผิดกฎหมาย ก็ยังมีอยู่เพื่อเป็นแหล่งรายได้ในการจัดหาอาวุธและโดรน เพื่อต่อสู้ประหัตประหารกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้กระบวนการเจรจามีความคืบหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคิดว่ามีอยู่ในใจของนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่จะออกมาในรูปแบบใด ต้องติดตามอีกครั้ง