POLITICS

‘ก้าวไกล’ จ่อร้อง ป.ป.ช. เอาผิด กสทช. ยกคณะ

หนุน ‘สภาผู้บริโภค’ ฟ้องศาลปกครองอีกทาง ‘ศิริกัญญา’ ถามรัฐบาล เฉยแบบนี้มีดีลทับซ้อนหรือไม่ หวั่นต่อไปควบรวมได้ ไม่ต้องขออนุญาต

วันนี้ (21 ต.ค. 65) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ที่อาคารรัฐสภา ถึงกรณีที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดเดา แต่ยังคงผิดหวัง เพราะเราคาดหวังไว้ว่า กสทช. จะใช้อำนาจตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งหากสังเกตมติครั้งนี้ไม่ใช่การอนุญาตให้ควบรวมแต่เป็นการรับทราบ มีการโหวต 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการลงมติว่าสรุปแล้ว กสทช. มีอำนาจให้ควบรวมหรือไม่ สิ่งที่ลงมติออกมาเป็น 2 ต่อ 2 เสียง ซึ่งก็เป็นประเด็นว่าในการลงมติเรื่องนี้จำเป็นจะต้องได้เสียงข้างมากของคณะกรรมการทั้งหมด คืออย่างน้อยต้องได้ 3 เสียงแต่กรณีนี้เป็นการที่คะแเนนเท่ากัน จึงต้องให้ประธานชี้ขาด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่เป็นกรณีพิเศษไม่ใช่ในกรณีนี้ ตามข้อบังคับการประชุมของ กสทช.

นางสางศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อมาดูมติเสียงข้างมากบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตและใช้วิธีเพียงแค่การรับทราบผลการขอควบรวมธุรกิจ แสดงว่า กสทช. ตีความว่า ทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งค้านสายตาคนทั้งประเทศ และการที่ออกมาตรการหรือเงื่อนไขภายหลังแบบนี้ จึงคิดว่าสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีสำหรับกฎหมายกำกับดูแลในประเทศนี้

“ถ้าต่อไปเอไอเอสต้องการจะควบรวมกับ 3BB เขาจำเป็นต้องขออนุญาตหรือไม่ ? และในกรณีนี้จะนับว่าเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันอีกหรือไม่ ?”

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า คิดว่ามีปัญหาตั้งแต่กระบวนการโหวตและการตีความกฎหมายทั้งคู่ ผลที่ออกมาในส่วนที่เป็นเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในหลายเรื่องทั้งในเรื่องเชิงโครงสร้างและในเชิงพฤติกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกพอใจแล้วว่ามาตรการที่จะช่วยควบคุมราคา แต่ขอบอกว่าไม่มีการตัดสินของการอนุญาตควบรวมใดๆ ในโลกนี้ที่ให้รัฐเป็นผู้ควบคุมราคา เพราะทราบกันดีว่าในความเป็นจริงทำได้ยากมาก

“ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีที่สุดคือมาตรการในเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นการขายลูกค้าให้กับเจ้าอื่น หรือขายคลื่นหรือคืนคลื่นออกมา ในส่วนที่มีถือครองคลื่นเกินจำนวนที่ กสทช. กำหนดไว้ หรือการใช้เสาสัญญาณร่วมในราคาที่เป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดคือทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ ขึ้นเป็นเจ้าที่ 3 ซึ่งในกรณีนี้ต้องมีการกันคลื่นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะนำไปประมูลสัมปทานให้กับรายใหม่ได้ และอาจจำเป็นต้องให้แต้มต่อกับรายใหม่ให้ได้ราคาที่ถูกเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เพื่อดึงดูดให้มีรายที่ 3 เข้ามา จึงคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขและมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะกู้คืนสภาพการแข่งขันที่เคยมีอยู่ 3 เจ้าได้เลยจึงเป็นที่มาของการคัดค้านการตัดสินใจของ กสทช. ในครั้งนี้ ต่อไปเนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองอย่างที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด และจะฟ้องตามมาตรา 157 ทั้งคณะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ากสทช. ปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ หากผิดจริง การตัดสินครั้งนี้อาจเป็นโมฆะได้ พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่สามารถมีบทบาทแทรกแซงเรื่องนี้ได้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย จนอดคิดไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่”

นางสาวศิริกัญญา ยังยืนยันว่า จำเป็นต้องนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแน่นอน เพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟ้องจำเป็นต้องมีตัวแทนของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ. สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการฟ้องแล้ว พรรคก้าวไกลจะเป็นหน่วยสนับสนุนให้ดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น

ส่วนการฟ้องร้องของ ป.ป.ช. ฐาน กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 จะยื่นฟ้องในนามของพรรคก้าวไกล ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มกับฝ่ายประชาสังคมด้วยเช่นกัน โดยเรื่องนี้เราจะขอเป็นเจ้าภาพ เพียงแต่ว่าเราจำเป็นต้องเห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็ม เพื่อทำให้สำนวนคำร้องของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก่อน พร้อมยืนยันว่า ต้องฟ้องทั้งบอร์ด กสทช. 5 คน เพราะหากกรรมการฯ ประพฤติมิชอบหรือทำผิดขั้นตอนกระบวนการก็อาจทำให้การตัดสินครั้งนี้เป็นโมฆะไปได้

ส่วนข้อสังเกตที่ว่ามติของ กสทช. ใช้คำว่า ‘รับทราบ’ จะมองได้ว่าเป็นการปัดอำนาจหน้าที่ของ กสทช. หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ชี้ว่า จะส่งผลในระยะยาวแน่นอน เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ผิด ยกตัวอย่างหากอนาคต บริษัทอื่นที่จะควบรวมกิจการกัน อาจไม่ต้องอนุญาต กสทช. อีก ทั้งนี้ ยังส่งผลให้การแข่งขันของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลดลง หรือหากคิดในแง่ร้ายที่สุด หากทรูจะควบรวมกับอีกกิจการโทรคมนาคมอื่น ก็สามารถทำได้เลย โดย กสทช. ไม่มีอำนาจจะไม่อนุมัติได้

“แค่ยื่นคำร้องแล้ว กสทช. จะรับทราบ จากนี้ไปเราก็จะเหลือผู้เล่นแค่รายเดียว โดยจะไม่มีการแทรกแซงหรือยับยั้งใดๆ เลย นี่เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดมากทางกฎหมาย”

ส่วนเงื่อนไขและมาตรการที่ กสทช. กำหนดออกมานั้น นางสาวศิริกัญญา มองว่า จะมีหลายส่วนที่เอกชนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องกัน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของเอกชน ส่วนตัวมองว่ายังมีมาตรการที่เข้มข้นในบางเรื่อง เช่น การให้แยกแพ็คเกจระหว่างค่าโทรและค่ามือถือ เชื่อว่าภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในกรณีนี้ ซึ่งเราก็ต้องปล่อยให้เอกชนฟ้องร้องกันไป แม้จะมีเรื่องนี้ เมื่อรวมแพคเกจทั้งหมดก็ยังไม่สามารถคงสภาพการแข่งขันไว้ได้ ดังนั้น ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคอยู่

“อย่างบางมาตรการก็อาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่น การให้แยกแบรนด์ก่อนเป็นเวลา 3 ปีก่อนควบรวม เดี๋ยวค่อยให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีทางเลือก หลังบ้าน ก็มีความร่วมมือกันแล้ว สุดท้ายแล้วทางเลือกที่มี ก็เหมือนไม่มี”

ส่วนที่สังคมเริ่มตั้งคำถามว่าควรต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่และบทบาทของ กสทช. นางสาวศิริกัญญา มองว่า อาจต้องทบทวนไปถึงกฎหมายที่ว่าด้วยที่มาของ กสทช. ซึ่งมาจากกรรมการสรรหา และต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แต่ที่มาของวุฒิสภาตอนนี้เราก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องทำให้ กสทช. มีความรับผิดรับชอบกับประชาชน เพิ่มความยึดโยงมากขึ้น อาจจะพิจารณาเพิ่มให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองแทนวุฒิสภา หรือต้องรับรองทั้ง 2 สภา ร่วมกันก็ได้

นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขตัวประกาศต่างๆ ที่ออกมาในภายหลัง รวมทั้งแก้ไขบทบาทของ กสทช. ที่ริบอำนาจของตัวเองที่จะอนุญาตในการควบรวมออกไป จำเป็นต้องทบทวนในส่วนนี้แน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอำนาจเต็มของ กสทช. จำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันของประชาชน เพื่อให้ กสทช. ตื่น และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยทำไว้ในอดีต

Related Posts

Send this to a friend