POLITICS

คณะเจรจาพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา” เดินหน้าหารือแผนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ว่า ได้เตรียมหารือความเป็นไปได้ ในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นๆ สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่13 ก.ย. 65 กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกัมพูชา โดยการหารือครั้งแรกเป็นไปได้ด้วยดี มีแนวโน้มคืบหน้า อาจนำพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อน มาใช้ได้ภายในไม่เกิน 10 ปี

ด้าน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเจรจากัมพูชา เพื่อเร่งพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่คาบเกี่ยว มีเป้าหมายเพื่อทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน หรือ JDA คล้ายกับที่ไทยทำร่วมกับมาเลเซีย ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีความพร้อมในการเจรจาเรื่องนี้ตลอดเวลา แต่ยังต้องรอสัญญาณจากกระทรวงการต่างประเทศก่อน ในฐานะเจ้าภาพหลักการเจรจา เพราะมีเรื่องของเขตแดน ที่เกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศ หากตกลงกันได้กรม ฯ จะเร่งเข้าไปเสนอแผนและรูปแบบการพัฒนา โดยเบื้องต้น เตรียมไว้กว่า 10 รูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องหาข้อยุติ ก่อนพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ใน 6 ประเด็นคือ สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง , ระบบจัดเก็บรายได้ที่จะนำมาใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม , การจัดสรรสิทธิของผู้ได้รับสัญญาหรือผู้รับสัมปทานเดิมของแต่ละประเทศรวมถึงการกำหนดผู้ดำเนินงาน , ระบบหรือโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ , ประเด็นด้านศุลกากรและสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อน สำรวจพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ มีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยรัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 ก่อนจะหยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต้องหยุดลงด้วย

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในช่วงที่ผ่านมา ไทยเคยเจรจากับมาเลเซีย จนได้ข้อสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี

Related Posts

Send this to a friend