POLITICS

กทม.จับมือ สสส. จัดกิจกรรมทางม้าลายปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน

วันนี้ (21 มิ.ย.65) นายชัชชาติสิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยบนท้องถนน วุฒิสภา และ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ จัดกิจกรรมสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน โดยมีวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ให้ความรู้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา พร้อมแจกสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่รถยนต์ บริเวณทางม้าลายถนนดินสอ ข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ควาทสำคัญ เด็กนักเรียนจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุด เพราะต้องใช้รถใช้ถนนเดินทางไปเรียน กทม.จึงมีความจริงจังที่จะรับผิดชอบทั้งทางเท้า ไฟส่องสว่าง ท้องถนน โดยได้หารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กำหนดจุดใช้ความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว ซึ่งต้องอาศัยซอฟท์พาวเวอร์ รณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางท้องถนน สำหรับการแก้ไขจะเร่งฉีดน้ำบนถนนเพื่อให้เห็นทางม้าลายชัดเจนมากขึ้น รวมถึงจะนำแผนที่เสี่ยงภัยมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้จัดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง เป็นการมุ่งสร้างความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลาย และขณะนี้เป็นช่วงเวลาครบรอบ 5 เดือนในการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยกลับมาใส่ใจในการข้ามทางม้าลาย ทั้งนี้ยังคงพบอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สสส.จึงร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร สน.สำราญราษฎร์ และโรงเรียนในสังกัด กทม.จัดกิจกรรมนี้ขึ้น

พร้อมสำรวจข้อมูลกับมูลนิธิไทยโร้ด ดูพฤติกรรมผู้ขับขี่รถยนต์ใน 12 จุดทั่วกรุงเทพฯ พบผู้ใช้จักรยานยนต์ 90% ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อเข้าถึงทางม้าลาย อีก 38% ฝ่าไฟแดง กลุ่มไรเดอร์ 11% ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือใช้มืออีกข้างถือสิ่งของขณะขับขี่กว่า มีเพียงผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 1 ใน 3 ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

นายสุรชัย กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเมื่อปี 2564 มีจำนวน 16,957 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนเดินข้ามถนนหรือใช้ทางเท้า เสียชีวิตปีละ 900 ราย ข้ออมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่าในปี 2565 มีคนเดินถนนในกรุงเทพฯ เสียชีวิตแล้ว 28 ราย จึงขอเสนอแนวทางบริหารจัดการแก่ กทม. ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น พร้อมเร่งพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนน ส่วนมาตรการความปลอดภัยทางท้องถนน ให้กำหนดทางม้าลายมาตรฐาน ติดตั้งป้ายเตือน ไฟส่องสว่าง พร้อมประเมินจุดเสี่ยงที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางข้าม กำหนดความเร็วในเขตชุมชน โรงเรียน และตลาด

เรื่อง/ ภาพ: ณัฐพร สร้อยจำปา

Related Posts

Send this to a friend