POLITICS

‘จาตุรนต์’ ชี้จะแก้ปัญหาสิทธิมุษยชน ต้องเริ่มจากทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก่อน

‘จาตุรนต์’ เสนอแก้ ป.วิอาญา หยุดจำกัดสิทธิการแสดงออก ชี้จะแก้ปัญหาสิทธิมุษยชน ต้องเริ่มจากทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก่อน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทยกล่าวบนเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ที่ลานคนเมืองว่าประเทศไทยไม่อยู่บนเวทีโลกมานาน โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการ ดังนั้นการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่สามารถทำได้ หลักนิติธรรมถูกทำลาย สิทธิการแสดงออกและการชุมนุมจึงถูกจำกัดไปด้วย สิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนคือ การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 เนื่องจากมีการใช้กฎหมายแบบผิด ๆ เช่น การไม่ให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุผล หรือใช้เหตุผลไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ “อยากขังก็ขัง” สำหรับมาตราที่ต้องการแก้ไขเป็นพิเศษคือ มาตราที่เกี่ยวกับการตั้งข้อหา การประกันตัว การสั่งขัง ซึ่งต้องทำให้ชัดเจน

ที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่โดยไม่สมศักดิ์ศรี เพราะผู้นำรัฐบาลไทยไม่สนใจร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ขอยกตัวอย่างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แม้ไทยจะพยายามร่วมเซ็นสัญญากับต่างประเทศ แต่ไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจัง โยงไปถึงประเด็นคนกับป่า คนที่อยู่กับป่าควรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เพราะเขาอยู่มาก่อนกฎหมายอุทยาน และป่าสงวน ต้องสำรวจและเร่งให้สิทธิ เมื่อมีสิทธิอยู่ในป่าได้ก็ยังไม่สามารถอยู่ได้จริง เพราะกฎหมายของไทยถือว่าป่าต้องอยู่ในความดูแลของรัฐ ประชาชนเป็นเพียงผู้อาศัยที่รัฐไม่อยากให้อยู่ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดให้คนอยู่กับป่าได้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วย

นายจาตุรนต์ มองว่ารัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น ปัญหาอยู่ที่สร้อยท้าย “ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย” แต่กฎหมายกลับไม่มีวิวัฒนาการ เน้นความมั่นคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพประชาชน ยกตัวอย่างกฎหมายแรงงานข้ามชาติที่สมประโยชน์กับการทุจริตคอรัปชั่น ผู้ออกแบบกฎหมายจงใจให้เกิดแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย จึงจะต้องแก้ให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้อยู่ในระบบที่ถูกกฎหมาย และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานไทย ส่วน Sex Worker ต้องถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างเหมาะสม กรณีไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน รัฐต้องมีระบบคุ้มครองโดยอาจนำระบบบล็อกเชนเข้ามาใช้

ปัจจุบันแต่ละพรรคเน้นที่จะเสนอกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากฝากความหวังกับการออกกฎหมายมากไปจะแก้ไขยาก เพราะปัญหาในประเทศนี้สั่งสมมาจากเผด็จการ จึงเสนอให้รวบกฎหมายหลายฉบับในลักษณะ “พวง” แล้วแก้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนไม่อาจแยกออกจากความเผด็จการหรือระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ หากไม่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ทำให้ระบอบยุติธรรมของประเทศตรวจสอบได้โดยประชาชน หรือให้อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน

Related Posts

Send this to a friend